วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: พระปิดตาญาณเรศและพระปรกใบมะขาม หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม


 พระปิดตาญาณเรศและพระปรกใบมะขาม หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม

โดย...ชายนำ ภาววิมล...


    พระครูวิโรจน์ศาสนกิจ (ช่วง ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดควนปันตาราม ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกรซึ่งมีอายุพรรษามากที่ สุดรูปหนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน  หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เป็นศิษย์เอกผู้สืบสายพุทธาคมของพระครูรัตนาภิรัต (หลวงพ่อแก้ว:เน) วัดควนปันตาราม หลวงพ่อแก้ว(เน) รูปนี้เป็นศิษย์พระอาจารย์ทองเฒ่า ปรมาจารย์ใหญ่แห่งสำนักเขาอ้อ ว่ากันว่าพระเวทย์วิทยาคมและคัมภีร์ต่างๆของสำนักเขาอ้อตกทอดมาถึงหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม มีความเชี่ยวชาญในพระเวทย์วิทยาคมสำนักเขาอ้อเพียงใด 

     ด้านพระเครื่องและวัตถุมงคล หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เริ่มจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในนามของท่านเองตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ แม้ว่า “พระกริ่งรัตนา” ซึ่งเป็นพระกริ่งรุ่นแรกของท่าน มีลักษณะเป็นพระกริ่งขนาดเล็กและไม่มีความงดงามตามแบบอย่างสมัยนิยม เนื่องจากเป็นพระที่หล่อกันเองภายในวัดควนปันตารามโดยช่างฝีมือบ้านๆ จะหาสวยๆ สักองค์ก็ยากเต็มที แต่ถ้าจะพูดกันถึงพุทธคุณกันละ...เก้อ ลูกศิษย์สายตรงส่วนใหญ่รู้ดีว่าพระกริ่งรัตนาชุดนี้ มิได้ด้อยไปกว่าพระสวยๆ ศิลปะดีๆ ที่สร้างขึ้นในภายหลังแม้แต่น้อย ที่สำคัญคือหลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม นำคำว่า “รัตนา”ซึ่งเป็นคำหนึ่งในสมณะศักดิ์ของหลวงพ่อแก้ว(เน) มาตั้งเป็นชื่อพระกริ่งรุ่นแรกของท่าน การที่พระเกจิอาจารย์อาวุโสอย่างหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม นำชื่อของครูบาอาจารย์มาตั้งเป็นชื่อพระเครื่อง/วัตถุมงคลชุดใดชุดหนึ่ง ย่อมเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ให้ความสำคัญกับพระกริ่งชุดนี้เพียงใด เวลายี่สิบปีผ่านไป“พระกริ่งรัตนา”เป็นพระกริ่งของพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่หายากมากพิมพ์หนึ่ง



พระกริ่งรัตนา หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม รุ่นแรก

    ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม อนุญาตให้คณะศิษย์ฯ สร้างพระรูปเหมือนของท่านหลายรุ่น อาทิ พระรูปหล่อลอยองค์รุ่นแรก อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส ปี ๒๕๔๐, เหรียญรุ่นแรก ฉลองอายุ ๗๒ ปี สร้างเมื่อปี ๒๕๔๒, พระปิดตารุ่นแรก ปี ๒๕๔๕, พระเครื่อง/วัตถุมงคลต่างๆของท่านหลายพิมพ์เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหาของศิษย์สายนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีหลายพิมพ์ที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารออกมาให้เห็นมากนัก เลยถึงคราวถึงวาระที่ต้องหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังบ้าง



พระรูปหล่อหลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม พัทลุง รุ่นแรก


เหรียญหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม พัทลุง รุ่นแรก


พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม พัทลุง

พระปิดตาญาณนเรศร์ ปี ๒๕๔๙

    พระปิดตาญาณนเรศร์เป็นพระปิดตาเนื้อผงดำที่สร้างขึ้นในปี ๒๕๔๙ โดยการนำยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ บางคนเรียกยันต์นี้ว่า “ยันต์นเรศวรชนช้าง” มาเป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาญาณนเรศร์ ยันต์นี้เป็นหนึ่งในตำราพิชัยสงครามที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บันทึกใน “คัมภีร์พระเวท ฉบับจัตตถบรรพ” หน้า ๑๘๐ ว่า ...ท่านตีค่าไว้ถึงร้อยเอ็ดพระนคร... และกล่าวถึงอุปเท่ห์ในการใช้ยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ว่า..ถ้าจะเข้าเฝ้าท้าวพระยา ให้รูดตะกรุดดอกนี้มาไว้ข้างหน้าที่ตรงสะดือ และถ้าจะให้ท่านเมตตาเราให้รูดตะกรุดมาไว้ข้างขวาแลท่านเมตตาเรา ถ้าจะให้หญิงรัก ให้เอาใบรักมาลงชื่อ ปี วัน เดือน แล้วเอาใบรักนั้นสีสายตะกรุดเสียก่อน จึงให้รูดตะกรุดนั้นมาไว้ข้างซ้าย เห็นหน้าเรารักเรานักแล ถ้าจะให้คนทั้งหลายรักให้เอาหญ้าเกล็ดหอย มาสีสายตะกรุด แล้วรูดมาไว้ข้างขวารักเรานักแล ถ้าโจรผู้ร้ายรุกรานปล้นหนทาง หรือจะกันสัตรูทั้งในน้ำและบนบกก็ดี ให้เอายอดสันพร้ามอญและใบขัดมอญ มาสีสายตะกรุดเสียก่อน แล้วรูดมาไว้ข้างขวา สัตรูทำอันตรายแก่เรามิได้ ถ้าจะกันโจรผู้ร้ายให้รูดมาข้างหลัง มันกลัวเรานัก ถึงจะมาลักของก็เอาไปมิได้ ถ้าจะไปสู้ความ ให้เอาตะกรุดรูดไปไว้ข้างหน้า ไปว่าความมีชัยชนะแล ถ้าจะให้เป็นคงกระพันชาตรี ให้เอาใบแสนกำลังหนุมาณกับยอดขัดมอญมาสีสายตะกรุดเสียก่อนแล้วรูดตะกรุดมาไว้ข้างหน้า ท่านว่าเป็นล่องหนกำบังจับเรามิถูกเราเลย ถ้าจะนอนป่ากลัวสัตว์ร้ายต่างๆ จะทำอันตราย หรือจะนอนที่ใดๆ ก็ดี ให้รูดตะกรุดมาไว้ข้างหลัง สารพัดคุ้มกันภัยได้ทุกสิ่งแล ถ้าบังเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น ให้เอาตะกรุดแช่น้ำกินบ้างอาบบ้าง หายสิ้นแล...." นอกจากอุปเทห์ที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บันทึกไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้ว สีหวัชร ศิษย์เอกของอดีตพระครูหนู (นิรันดร์ แดงวิจิตร) วัดสุทัศน์เทพวราราม ผู้สืบสายพุทธาคมสมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทโว อธิบายขยายความเกี่ยวกับความเป็นมาและความพิสดารของยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ในคอลัมน์อักขระเลขยันต์ นิตยสารพระเกจิ 


พระปิดตาญาณนเรศร์ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม พัทลุง



    การนำยันต์ตะกรุดญาณนเรศร์มาเป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาสายเขาอ้อ มีการปรับเปลี่ยนแต่งเติมให้พระปิดตารุ่นนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง คงไว้ซึ่งความเป็นพระปิดตาสายเขาอ้อ โดยปรับเปลี่ยนรูปพระปิดตาจากเดิมที่เป็นพระปิดตามหาลาภมาเป็นพระปิดตามหาอุตม์พิมพ์ว่าวจุฬา ซึ่งเป็นพระปิดตาพิมพ์นิยมของสำนักเขาอ้อ ในส่วนตัวยันต์ มีการเพิ่มพระคาถาในกระดูกยันต์อีก ๒ บท คือ ธาตุสี่ “นะ มะ พะ ทะ” ที่มุมกระดูกยันต์ทั้งสี่ด้าน และพระคาถาอริยสัจสี่ “ทุสะนิมะ สะนิมะทุ นิมะทุสะ มะทุสะนิ” ในกระดูกยันต์ทั้งสี่ด้าน พระคาถานี้ ศิษย์ฆราวาสที่ปรนนิบัติรับใช้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน เคยบอกกับผู้เขียนว่า พระคาถานี้ มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “หัวใจมนุษย์” เป็นพระคาถาที่พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อหลายรูปนิยมใช้กัน นอกจากนั้น ยังเพิ่มอักขระในพระคาถาสองชุดที่ทำให้แบบด้านหน้าพระปิดตาญาณนเรศร์นี้ มีความสวยงามลงตัวมากยิ่งขึ้น คือ ด้านบนและด้านซ้ายด้านขวา ประทับด้วยอักขระ ๓ ตัว “อุ มะ อะ” และใต้ยันต์ ประทับด้วยหัวใจพระคาถา ๓ ตัว “อิสวาสุ” ส่วนด้านยันต์คงไว้ซึ่งลักษณะของยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ และจารึกชื่อ “หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม จ.พัทลุง” รอบยันต์หลัง

    พระปิดตาญาณนเรศร์ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นจากว่านยาและมวลสารต่างๆ มายมาย ด้านหน้าฝังเกศาหลวงพ่อช่วง ฐิติธมฺโม มีจำนวนการสร้างประมาณ ๕,๒๐๐ องค์ เท่าที่ทราบพระปิดตาชุดนี้ หมดไปจากวัดควนปันตารามนานแล้ว คนที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่เดินทางมากราบนมัสการท่าน นักนิยมพระเครื่องสายนี้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระปิดตาชุดนี้น้อยมาก บางคนมองข้ามความสำคัญของพระปิดตาเนื้อผงเพราะฝังใจว่าชำรุดแตกหักง่ายเก็บรักษายากโดยหารู้ไม่ว่านี่คือสุดยอดพระปิดตาของหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม อีกพิมพ์หนึ่ง เป็นพระปิดตาที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นอย่างดี และเป็นพระปิดตาที่ลูกศิษย์ในสายนี้น่านำไปจับขอบทองบางๆ ขึ้นคอมากที่สุด ถ้ายกซุ้มด้วยละเก้อ ยิ่งงามจับใจ ...สวย เท่ห์ ขลัง...

พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๗

    พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๗ เป็นพระประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม มอบหมายให้คณะศิษย์ดำเนินการจัดสร้างเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างมณฑป ลักษณะเป็นพระปรกใบมะขามขนาดค่อนข้างเขื่องกว่าพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหลังประทับด้วยยันต์ “พะซ้อน” และอักษรระบุนาม “ช่วง ฐิตธมฺโม พัทลุง” มีทั้งหมด ๗ เนื้อ คือ ทองคำ ๑๓ องค์ เงิน ๑๕๒ องค์ ชนวนสำริด ๑๒ องค์ นวโลหะ ๑๙๘ องค์ ชินตะกั่ว ๑๒ องค์ ทองเหลือง ๙๑๒ องค์ ทองแดง ๗๙๖๐ องค์


พระปรกใบมะขามหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม รุ่นแรก

    การสร้างพระปรกใบมะขามครั้งนี้ จัดเป็นชุด ๓ ชุด คือ

       ๑. ชุดกรรมการใหญ่ ๑๒ ชุด (ทองคำ เงิน สำริด นวโลหะ ชินตะกั่ว อย่างละ ๑ องค์ ทองเหลือง ๑๐ องค์ ทองแดง ๑๕๐ องค์)
       ๒. ชุดกรรมการเล็ก ๑๔๐ ชุด (เงิน นวโลหะ อย่างละ ๑ องค์ ทองเหลือง ๕ องค์ ทองแดง ๓๐ องค์
       ๓. ชุดของขวัญ ๔๖ ชุด (นวโลหะ ๑ องค์ ทองเหลือง ๒ องค์ ทองแดง ๑๐ องค์)

    สำหรับโค้ดของพระปรกใบมะขามชุดนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นข้อมูลพพื้นฐานสำหรับการเล่นหาในวันข้างหน้า คือ ใช้ “” เป็นหลักในการตอกโค้ดทุกเนื้อ และเพิ่มโค้ดอีกหนึ่งตัวโดยการนำอักษรย่อของโลหะมาตอกเพื่อจำแนกแยกแยะลักษณะของโลหะที่จัดเข้าไปอยู่ในพระปรกใบมะขามแต่ละชุด (“ท” ทองคำ, “ง” เงิน, “ส” สำริด, “น” นวโลหะ, “ช” ชินตะกั่ว, “ล” ทองเหลือง, “ด” ทองแดง) ยกเว้นพระปรกใบมะขามเนื้อทองแดง จำนวน ๑๕๐๐ องค์ ที่ถวายหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ตอกโค้ด “ช” เพียงตัวเดียว นอกจากนั้น มีการตอกหมายเลขกำกับพระปรกใบมะขาม ๔ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน นวโลหะ ชนวนสำริด

       พระปิดตาญาณนเรศร์ พระปรกใบมะขามรุ่นแรกหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม เป็นพระเครื่องที่ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน จะรับรู้กันก็เฉพาะในกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิด ทำให้นักนิยมพระเครื่องสายนี้ไม่มีข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการเล่นหาสะสมพระหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม อย่างครบถ้วน จึงบันทึกและนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเล่นหาและสะสมพระหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ในวันข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น