วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: เหรียญหยดน้ำ ภปร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ปี ๒๕๒๕


เหรียญหยดน้ำ ภปร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่

โดย...ชายนำ ภาววิมล...

      เมื่อสามสิบถึงสี่สิบปีที่แล้ว คนในยุคนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พระอริยสงฆ์ที่นักบินของกองทัพอากาศไทยเห็นท่านเจริญภาวนาบนก้อนเมฆโดยไม่รู้ว่า พระภิกษุอาวุโสรูปนี้เป็นใคร มาจากไหน เหตุใดจึงมาเจริญภาวนาบนก้อนเมฆเช่นนี้ จากนั้น มีการสืบค้นกันนานพอควร กว่าจะพบความจริงว่า พระภิกษุอาวุโสรูปนี้ คือ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หนึ่งใน ๑๐๘ พระเถราจารย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สายธรรมที่ได้รับการขนานนามว่า “กองทัพธรรมอันเกรียงไกร” อานิสงส์จากการค้นพบหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ของคณะศิษย์ในสายกองทัพอากาศในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ แผ่ขยายขจรไกลไปทั่วทุกสารทิศในราชอาณาจักรไทย มีการสร้างวัตถุมงคลและพระเครื่องต่างๆ ในนามของท่านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี ๒๕๑๗ –๒๕๒๗ ซึ่งเป็นบั้นปลายชีวิตของท่าน เพลานั้นถือว่าเป็นยุคทองของวัตถุมงคลและพระเครื่องที่จัดสร้างในขึ้นนามหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ก็ว่าได้



       ไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติไปได้ ทุกวันนี้ วัตถุมงคล/พระเครื่องที่จัดสร้างในนามหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งเคยได้รับความนิยมแบบสุดๆ เส้นทางพระเครื่องทุกสายในยุคสมัยนั้น วิ่งตรงสู่วัดดอยแม่ปั๋งแบบที่ไม่เคยมีพระเกจิอาจารย์รูปใดเคยเป็นมาก่อน ทุกวันนี้ กลับกลายเป็นวัตถุมงคลและพระเครื่องที่นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่มองข้าม ไม่ให้ความสนใจมากนัก ทั้งๆที่หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นพระแท้ พระบริสุทธิ์ผุดผ่องที่น่ากราบไหว้บูชามากที่สุดรูปหนึ่ง เป็นสหธรรมิกกับสมเด็จพระสังฆราชวาส์น วาสโน วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เหนือสิ่งอื่นใด หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นพระอริยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดรูปหนึ่ง ประจักษ์พยานที่เห็นชัดเจนที่สุด คงไม่พ้นงานพิธีพระราชทานเพลิงสรีระของท่านที่มหาชนมาจำนวนมากร่วมงานฯอย่างล้นหลาม ความถดถอยของค่านิยมในการเล่นหาสะสมวัตถุมงคล/พระเครื่องที่จัดสร้างในนามหลวงขึ้นปู่แหวน สุจิณฺโณ นั้น หลักใหญ่ใจความ คือ มีจำนวนรุ่นและจำนวนการสร้างมากเกินความต้องการของพุทธศาสนิกชน ของเทียมเลียนแบบมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องปล่อยวาง ปล่อยให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง การที่พระหลวงปู่แหวน สุจิณโณ มีค่านิยมในการเล่นหาสะสมไม่สูงมากนัก เป็นโอกาสอันดียิ่งของนักนิยมพระเครื่องยุคใหม่ที่ใฝ่ฝัน ต้องการหาพระดีๆ ที่มีอายุการสร้างพอประมาณมาครอบครองในสนนราคาที่ไม่สูงมากจนเกินเหตุ





        ในบรรดาวัตถุมงคลและพระเครื่องที่จัดสร้างขึ้นในนามหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง มีหลายรุ่นที่เป็นของดีราคาเบาที่ควรค่าแก่การเล่นหาสะสมเป็นอย่างยิ่ง หลายท่านอาจตั้งคำถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าพระรุ่นไหนที่ควรค่าแก่การเล่นหาหรือเก็บสะสม เป็นคำถามง่ายๆ แต่ตอบให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันไม่ง่ายนัก เว้นแต่กรณีการนำหลักการพื้นฐานมาพิจารณาประกอบ หลักการพื้นฐานที่ว่านี้ มี ๒ ประการ คือ ประวัติความเป็นมาในการจัดสร้าง และคุณภาพของวัตถุมงคล เรื่องประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างคงไม่มีประเด็นปัญหาอะไรมากนัก คุณภาพของวัตถุมงคล..นั่นซิ ที่เป็นประเด็นปัญหา เป็นปัญหาเพราะยังไม่มีใครหาญกล้าชี้ชัดและฟันธงลงไปว่าคุณภาพของวัตถุมงคลคือสิ่งใดกันแน่ หมายถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่นำวัตถุมงคลนั้นๆ ใช่หรือไม่ ความเห็นส่วนตัวของผู้นำเสนอ ประสบการณ์ไม่ใช่เกณฑ์ที่ควรนำมาใช้พิจารณาว่าวัตถุมงคลชิ้นใดมีคุณภาพหรือไม่ พุทธคุณที่คนในวงการนี้ชอบกล่าวถึงกันเสมอๆ ก็ไม่น่าใช่ อีกทั้งวัตถุมงคลและพระเครื่องก็ไม่มีมาตรฐานคุณภาพการผลิตกำกับเสียด้วย ว่ากันตามความเป็นจริง คุณภาพของวัตถุมงคล อยู่ที่ตัววัตถุมงคลนั่นเอง เราสามารถพิจารณาคุณภาพของพระเครื่องต่างๆ ได้จากศิลปะที่ปรากฏบนพระเครื่องแต่ละแบบ ศิลปะในสายตาคนทั่วไปย่อมมีความแตกต่างกันตามรสนิยมของแต่ละบุคคล แต่ศิลปะกับงานที่สักแต่ว่าทำให้เป็นรูปพระมันแตกต่างกัน แยกออกไม่ยาก งานใดที่ผู้สร้างไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าใช้ช่างฝีมือดี งานนั้นจะออกมาดี มีคุณภาพได้อย่างใด การออกแบบและคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาจัดสร้างเป็นประเด็นสำคัญที่พอแยกแยะได้ว่าวัตถุมงคลหรือพระเครื่องชิ้นนั้นๆ มีคุณภาพหรือไม่


         เหรียญหยดน้ำหน้าพระพุทธรูป หลังรูปหลวงปู่แหวน สุจิณโณปี ๒๕๒๕ เป็นเหรียญดีอีกเหรียญหนึ่งที่ยังไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลที่ใครเจนว่าใครเป็นผู้สร้างถวาย สร้างขึ้นในโอกาสใด จำนวนการสร้างที่แน่ชัด แต่เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ บนเหรียญ ทำให้มั่นใจว่าเหรียญนี้ ไม่ธรรมดาแน่นอน เหตุผลสนับสนุน คือ 
            ๑) เป็นเหรียญที่ผลิตจากโรงงานกษาปณ์ การผลิตเหรียญของโรงงานกษาปณ์เป็นงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและมีความงดงามตามแบบอย่างของเหรียญกษาปณ์ที่โรงงานอื่นๆ ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้  
            ๒) เหรียญส่วนใหญ่ที่พบสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ 
          ๓) ด้านล่างขององค์พระพุทธรูป (หลายท่านคงไม่ทราบว่าพระพุทธรูปในเหรียญนี้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดดอยแม่ปั๋ง) จารึกด้วยพระคาถาภาษาบาลี “ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ” พระคาถานี้ท่านเจ้าสิริวัฒโนดม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ พระอุปฐากของสมเด็จพระสังฆราชวาส์น วาสโน บอกว่าเป็นพระคาถาประจำตัวของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ  
          ๔) ใต้พระคาถาบทนี้ เป็นพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ขนาบข้างด้วยคำแปลพระคาถาบทนี้ ด้านขวาขององค์พระ “ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว” ด้านซ้าย “ธรรมนำสุขมาให้” 
            ๕) เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี

        องค์ประกอบทั้ง ๕ ดังกล่าว เป็นข้อสังเกตที่พอสันนิษฐานได้ว่าเบื้องหลังความเป็นมาในการสร้างที่ยังเป็นปริศนาอยู่ คงไม่ธรรมดาแน่นอน ผู้สร้างต้องเป็นบุคคลสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ทางด้านพุทธศาสน์ดีมากอีกคนหนึ่ง บุคคลทั่วไป คงยากที่จักสร้างสรรค์ผลงานในระดับนี้ได้ ข้อสังเกตที่สรุปจากองค์ประกอบบนเหรียญ เป็นเหตุให้มโนต่อไปว่า เหรียญรุ่นนี้ คงไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับวัตถุมงคลและพระเครื่องที่จัดสร้างขึ้นในนามหลวงหลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลายรุ่นที่โยงสายสิญจ์จากกุฏิหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ผ่านรถบรรทุกคันแล้วคันเล่า กว่าจะมาถึงรถบรรทุกวัตถุมงคลและพระเครื่องที่ตนสร้าง 


     


         การนำเสนอข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเหรียญหยดน้ำพิมพ์พระประธาน จารึกพระมาภิไธยย่อ “ภปร” หลังรูปเหมือนหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นภาพสะท้อนที่ต้องการบอกกับนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ว่า ในอาณาจักรพระเครื่องที่พวกเราสนใจ ยังมีวัตถุมงคลและพระเครื่องอีกจำนวนมากที่เป็นของดีราคาเบา ของดีที่ควรค่าแก่การสะสมเล่นหา พระดีที่เหมาะกับการใส่ตลับหรือเลี่ยมกันน้ำขึ้นคอ บางครั้งเราอาจไม่รู้ประวัติความเป็นมาของวัตถุมงคลหรือพระเครื่ององค์นั้นๆ ถ้าพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว อาจพบข้อเท็จจริงว่าพระเครื่ององค์นั้นๆ เป็นพระดีที่ควรค่าแก่การเก็บสะสมเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น เหรียญหยดน้ำพิมพ์พระประธาน หลังรูปเหมือนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ปี ๒๕๒๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น