วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

buddhasilapa พระปิดตาหลัง สธ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน

พระปิดตาหลัง สธ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน

โดย...ชายนำ ภาววิมล...


       วัดถ้ำเขาเงิน ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกในปี ๒๔๓๒ (รศ ๑๐๘) ความสำคัญมิได้เป็นเพียงสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสสถานที่แห่งนี้ การเสด็จประพาสถ้ำเขาเอนเพลานั้นเป็นทั้งผลของการพัฒนาเมืองหลังสวน และเป็นเหตุที่นำไปสู่การจัดตั้งมณฑลชุมพรเป็นมณฑลแห่งการทำนุบำรุงการค้า ในปี ๒๔๓๙ เหตุเพราะเขาเอนแห่งนี้อยู่ในทำเลที่เหมาะสมยิ่ง สามารถมองเห็นเส้นทางการขนแร่จากวังตะกอสู่เมืองหลังสวน การเสด็จประพาสฯ ย่อมมิใช่การเสด็จโดยมิได้มีจุดมุ่งหมายที่เด่นชัด เหตุที่โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อถ้ำจาก"ถ้ำเขาเอน"เป็น"ถ้ำเขาเงิน" การสลักพระปรมาภิไธยย่อ "จปร. ๑๐๘" การพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่ตั้งบนชะง่อนผาถ้ำเขาเอนแห่งนี้ ย่อมมีนัยสำคัญทางประว้ติศาสตร์เมืองหลังสวน ประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่นที่คนยุคสมัยปัจจุบันละเลยและมองข้าม เพียงเพราะไม่มีการสร้างข้อสรุปทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ในอีกแง่มุมหนึ่งของเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประพาสถ้ำเขาเงิน ตัวละครสำคัญท่านหนึ่งที่มีการนำรูปและนามของหลวงพ่อแดง พุทโธ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงิน ในขณะนั้น ซึ่งบ่ายเบี่ยงและไม่รับพระราชทานสมณศักดิ์จากล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ มาจัดสร้างเป็นพระเครื่องรูปแบบต่างๆ ในปี ๒๕๑๑ ทั้งมีการบันทึกชีวประวัติ ข้อมูล รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานสร้างพระเครื่องครั้งนั้นอย่างพิสดาร เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันเป็นเวลานานกว่าสามสิบปี นานจนคนที่อยู่ในเหตุการณ์ล้มหายตายจากันไปเกือบนาน และกลายเป็นตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนที่ผู้รู้บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า"การนำพระเครื่องไปพลีทะเล(ทิ้งทะเล)และอัญเชิญพระเครื่องกลับสู่ปะรำพิธีฯ เป็นไปได้จริงหรือ" จริงเท็จประการใด เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ทั้งไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปสืบค้นหาความเป็นจริงเหล่านั้น




    
         ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมโมุ เป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดถ้ำเขาเงินแห่งนี้ ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ วัดถ้ำเขาเงินมีการพัฒนาด้านการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดถ้ำเขาเงินมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากมาย ส่วนตัวของท่าน ก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่า"เป็นพระเกจิอาจารย์ที่รอบรู้/เชี่ยวชาญในพุทธาคมอย่างลึกซึ้ง" สามารถเป่าทองเข้าหน้าผากลูกศิษย์โดยที่มือของท่านไม่จำเป็นต้องสัมผัสแผ่นทองนั้น การเป๋าแต่ละครั้ง มีมากกว่าสิบแผ่นขึ้นไป การเป่าทองของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มิได้มีอุปเท่ห์เฉพาะทางเมตตามหานิยม แต่เกื้อกูลให้ผู้ที่ได้รับการเป่าทองเจริญรุ่งเรือง มีความเป็นอยู่ที่ดีตามควรกับบุญกุศลที่สั่งสมกันมา  


ประวัติโดยสังเขป 

      พระครูใบฎีกาคล้อย ฐานธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงิน ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นในช่วงทศวรรษที่๒๕๓๑-๒๕๔๐ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระสุปฏิปันโน ผู้สร้างตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน"พระภควัมบดีและพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงิน" ความมหัศจรรย์แห่งคุ้งน้ำเขาเงิน ลุ่มน้ำหลังสวน เมื่อปี ๒๕๑๑ หนึ่งในตำนานที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการนำพระเครื่องไปพลีทะเลและอัญเชิญพระเครื่องที่ไปพลีทะเลกลับสู่ปะรำพิธีฯ ในกาลครั้งนั้น พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม และกรรมการวัดถ้ำเขาเงินอยู่ในฐานะเจ้าภาพจัดสร้างพระเครื่องในนามหลวงพ่อแดง พุทโธ เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างอาศรมประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ โดยมอบหมายให้คุณเบญจางค์ เลขะกุล ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาหลังสวน เป็นผู้เชิญอาจารย์ชุม ไชยคีรี และพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อในสมัยนั้นมาช่วยพิธีฯ ประกอบกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี มีกุศลเจตนาในการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลเพื่อมอบให้ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ฯไว้ป้องกันตัว การดำเนินงานจัดสร้างพระเครื่องในรูป/นามของหลวงพ่อแดง พุทโธ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นสหธรรมิกกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี และมีโอกาสศึกษาเรียนรู้สรรพวิชาการต่างๆจากพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังในยุคสมัยนั้น



      พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นคนหลังสวนโดยกำเนิด ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายพุ่ม และนางแจ้ม ทองเสมียน ถือกำเนิดในวันพุธที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๓ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีวอก ที่บ้านนาพระ ต.ขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ครอบครัวของท่านเป็นเกษตรกรและมีฐานะค่อนข้างดี เมื่อถึงวัยเรียน โยมพ่อนำไปฝากเรียนที่โรงเรียนวัดด่านประชากร ๑ ปี จากนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดประสาทนิกร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องเรียนทางไกล ระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียน มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอักขระวิธีจากพระครูอาทรธรรมวัตร(ชบ สุวณฺโณ) ศิษย์เอกหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ พระเกจิอาจารย์อาวุโสแห่งเมืองหลังสวน หลังจากจบประถมศึกษาปีที่ ๔  ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำสวน ต่อเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดประสาทนิกร โดยมีหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการบรรพชาครั้งนี้ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อขำ วฑฒนเถระ อย่างใกล้ชิด นอกจากจะได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ โดยตรงแล้ว ยังได้ศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านปริยัติ/ปฏิบัติจากสำนักเรียนพระปริยัติและกรรมฐาน วัดประสาทนิกร ซึ่งมีพระครูอาทรธรรมวัตร (ชบ สุวณฺโณ) เป็นเจ้าสำนัก

       หลังจากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ลาสิกขาจากการเป็นสามเณรแล้ว ท่านอยู่ปรนนิบัติโยมพ่อโยมแม่จนถึงกาลเวลาที่ทั้งสองลาจากโลกนี้ไป พระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกศโล) เจ้าอาวาสวัดขันเงินและเจ้าคณะจังหวัดชุมพร บางกระแสก็ว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ของท่าน มาตามท่านไปอยู่วัดขันเงินเพื่อช่วยงานสร้างพระอุโสถวัดขันเงินโดยมอบหมายให้ท่านนำช้างไปลากซุงที่ ต.ปังหวาน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ระหว่างนั้น ท่านเจ้าคุณฯ พยายามโน้มน้าวให้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อุปสมบท แต่ท่านก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ช่วงสุด ท้ายแห่งอายุกาลของพระธรรมวงศาจารย์(จันทร์ โกศโล) ท่านเจ้าคุณฯ จึ่งขอร้องแกมบังคับให้ท่านบวชเสียที บวชแล้วจะไปไหนก็ไป พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ถามกลับไปว่า"บวชไปเพื่ออะไร" ท่านเจ้าคุณฯตอบง่ายๆ ตามแบบผู้ใหญ่ในยุคสมัยนั้นว่า"อย่างน้อยก็ได้ดูแลท่านในยามแก่" คำพูดนี้เป็นจุดหักเกที่นำไปสู่การตัดสินใจบวชในเพลานั้น จากนั้นพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อุปสมบทที่พระอุโบสถวัดขันเงินโดยมีพระธรรมวงศาจารย์(จันทร์ โกศโล)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ชุ่ม ติกขฺปญฺโญ เป็นพระกรรมมาวาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว จำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดขันเงินต่อ จนสอบไล่ได้นักธรรมเอก จากนั้นจึงได้ธุดงค์เพื่อศึกษาหาความรู้/ประสบการณ์เพิ่มเติมหลายปี แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดขันเงิน

       ในปี ๒๕๐๙ พระปกาศิตพุทธศาสตร์(บุญช่วย เขมาภิรัติ) เจ้าคณะจังหวัดชุมพรในขณะนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น"พระราชญาณกวี" มอบหมายให้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม พระฐานานุกรมของท่าน ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงินตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมาจวบจนถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งเป็นวันที่ท่านละสังขารไปด้วยโรคมะเร็ง ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่ท่านปกครองดูแลวัดถ้ำเขาเงิน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ได้พัฒนาวัดถ้ำเขาเงินและสร้างสรรค์สาธารณะประโยชน์มากมาย ถาวรวัตถุที่เห็นได้เด่นชัดคือ พระอุโบสถหลังใหม่รูปทรงแบบเรือสุพรรณหงส์ และตึกสงฆ์อาพาธ "ตึกฐานธมฺโม" ในโรงพยาบาลหลังสวน

ความเป็นมาในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จและพระปิดตาหลัง สธ.

      หลังงานที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่วัดถ้ำเขาเงิน ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ปี ๒๕๓๗ (มีข้อมูลเกี่ยวกับวันเสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าฯ ที่ไม่ตรงกัน กล่าวคือหนังสือ "พ่อหลวงคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๐ ครบรอบ ๑๐๐ วัน" ระบุว่า "สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จยกช่อฟ้าฯ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗") พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมายให้ลูกศิษย์ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของท่านในการสร้างพระเครื่องหลายรุ่น เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานจัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จและพระปิดตาเนื้อผงอีกรุ่นหนึ่ง และให้นำพระนามภิไธยย่อ"สธ." มาประทับหลังพระเครื่องที่มอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างในวาระนี้ ลูกศิษย์ที่รับมอบหมายเรียนถามท่านว่าทำเรื่องกราบบังคมทูลขออนุญาตหรือยัง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม บอกว่าขอพระบรมราชานุญาติโดยวาจาแล้ว เมื่อท่านยืนยันหนักแน่นเช่นนี้ การดำเนินงานจัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จ/พระปิดตาหลัง"สธ" เริ่มต้นและเร่งรัดงานให้เสร็จสิ้นภายในต้นเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดพิธีสังเวยครู (งานบูชาครู) ที่ท่านจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปี ๒๕๓๗ จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๗

       พระเครื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดถ้ำเขาเงินของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นการจัดสร้างขึ้นตามดำริของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าฯ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือท่านมีโครงการใหญ่ที่จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้คือ "โครงการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลหลังสวน" พระเครื่องต่างๆ ที่มีอยู่ ก็หร่อยหรอไปมาก แม้ว่าพระเครื่องและวัตถุมงคลจักมิใช่ที่มาของปัจจัยหลักในการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ แต่ก็เป็นของที่ระลึกที่ขาดไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ที่มีส่วนช่วยทำให้สาธุชนทราบว่าท่านกำลังสร้างสรรค์สาธารณะประโยชน์ใดให้กับสังคมรอบข้าง



       พระเครื่องรุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗ มีทั้งหมด ๕ รายการ คือ ๑) พระยอดธงหลัง"สิรินธร" ๒) พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะรุ่นสอง ๓) พระชัยวัฒน์ปั๊ม"พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต"รุ่นแรก ๔) พระพิมพ์สมเด็จหลัง "สธ."  ๕) พระปิดตาหลัง"สธ" สารัตถะของพระพิมพ์สมเด็จและพระปิดตาหลัง "สธ" มีรายละเอียด ดังนี้



  ๑) พระพิมพ์สมเด็จหลัง สธ.

        พระพิมพ์สมเด็จหลัง สธ. เป็นพระพิมพ์สมเด็จที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมายให้ศิษย์ใกล้ชิดที่แบ่งเบาภาระของท่านในการจัดสร้างพระเครื่องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานจัดสร้าง และเป็นหนึ่งในสี่พิมพ์ที่มีการนำพระนามภิไธย และ/หรือพระนามของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารีมาประทับที่ด้านหลังองค์พระ จัดเป็นพระเนื้อผงในกรอบพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมชิ้นฟักในลำดับที่ ๕ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ลำดับแรก คือ พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำ รุ่นไตรมาส ปี ๒๕๑๑, พระสมเด็จสีชมพู ปี ๒๕๓๓,พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ ปี ๒๕๓๕, พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖, พระพิมพ์สมเด็จหลัง สธ. ปี ๒๕๓๗ และพระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗




      ลักษณะ ด้านหน้าเป็นพระพิมพ์สมเด็จทรงเจดีย์ตามแบบอย่างของพระพิมพ์สมเด็จสายพระสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรฺงสี) ด้านหลัง เป็นการจัดวางพระนามาภิไธยย่อและอักขระในลักษณะเดียวกับที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ายันต์จม จารึกพระนามาภิไธยย่อ "สธ" ด้านบนขนาบข้างด้วยพระคาถา "พุทโธ" ใต้พระนามาภิไธยฯ เป็นเลข "๓๗" หมายถึงปีที่สร้าง ถัดลงมาเป็นพระคาถานวหรคุณ อักษรล่างสุด เป็นจารึกชื่อวัดดังนี้ "วัดถ้ำเขาเงิน ช.พ."

        ขนาด กว้างประมาณ ๒.๒ เซนติเมตร สูง ๓.๒ เซนติเมตร

        วรรณะสีผิว ขาวอมชมพู

       เนื้อหามวลสาร มวลสารที่ใช้เป็นหลักในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จหลัง"สธ." ประกอบด้วย มวลสารต่างๆที่เหลือจากการสร้างพระปิดตามหาลาภองค์น้อย, พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต รุ่นแรก, พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ ปี ๒๕๓๕, พระพิมพ์สมเด็จสีชมพู, มวลสาร ผงวิเศษต่างๆ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม 

         จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐ องค์
        

  ๒) พระปิดตาหลัง สธ.

        พระปิดตาหลัง สธ. เป็นพระปิดตาลำดับที่สี่ หรือรุ่นที่สี่ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นแรกคือ พระปิดตาพุทโธ, ลำดับที่สอง พระปิดตามหาลาภองค์น้อย, ลำดับที่สาม พระปิดตามหาโภคทรัพย์ เสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖, ลำดับที่ ๔ พระปิดตาหลัง สธ 




     ลักษณะ เป็นรูปพระปิดตาในกรอบพิมพ์ลักษณะคล้ายเล็บมือ ด้านหน้าเป็นพระปิดตาแบบสมาธิเพชร เส้นขอบแบบสองชั้น เส้นขอบในบางเรียว องค์พระค่อนข้างป้อม กลมนูน สะดือเป็นเม็ดกลมจมลงไปในเนื้อพระ บนเศียรไม่มีเม็ดพระศก ด้านล่างของเท้าท้้งสองข้างที่ขัดแบบสมาธิเพชรมีลายเส้นแกะเป็นลายริ้วผ้าทิพย์ พระกรรณ(หู) ยาวเลยบ่าลงมา ด้านหลัง ประทับด้วยพระนามาภิไธยย่อ"สธ" ขนาบข้างด้วยพระคาถา"พุทโธ" ในลักษณะยันต์จม ใต้พระนามาภิไธยฯ จารึกชื่อวัด "วัดถ้ำเขาเงิน ช.พ."

     ขนาด กว้างประมาณ ๒.๑ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๔ เซนติเมตร

    วรรณะสีผิว เนื้อผงเกสร ผิวออกสีขาวอมเหลือง มีมวลสารสีดำ และสีน้ำตาลเม็ดเล็กๆ กระจายทั่วทั้งองค์พระ ส่วนเนื้อกากยายักษ์ ผิวออกสีเทาอ่อน มีมวลสารสีดำ กระจายอยู่ทั่วทั้งองค์พระ

     เนื้อหามวลสาร ส่วนใหญ่เป็นมวลสารชุดเดียวกับพระพิมพ์สมเด็จหลัง "สธ." ต่างกันที่มีมวลสารบางอย่างซึ่งผสมลงไปแล้วทำให้วรรณะสีผิวแตกต่างกันออกไป เช่น พระปิดตาหลัง"สธ" เป็นการนำกากยายักษ์มาเป็นส่วนผสมหลัก

       จำนวนการสร้าง เนื้อผงเกสร จำนวน ๓๔,๐๐๐ องค์ เนื้อกากยายักษ์ ๑๖,๐๐๐ องค์




      ด้านพิธีกรรม พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวในวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เวลา ๑๙.๐๙ น. โดยมีลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชากับท่านนั่งสวดมนต์เจริญภาวนาไปด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ท่านสั่งให้วางพระไว้ในที่เดิม ไม่ให้ขยับไปไหน ทราบในภายหลังว่าท่านจะอธิษฐานจิตปลุกเสกอีกครั้งในช่วงเช้ามืดก่อนฟ้าสางเสมอ เรื่องพลานุภาพหรือพุทธคุณนั้น เป็นที่ยอดมับกันว่าพระปิดตาทุกรุ่น ของท่านเด่นทางด้านเมตตานิยมและโชคลาภ เชื่อกันว่าถ้าไม่มีหรือหาพระปิดตามหาลาภองค์น้อยไม่ได้ ให้นำพระปิดตาหลัง"สธ." มาใช้แทนได้

สรุป

      พระพิมพ์สมเด็จและพระปิดตาหลัง"สธ" พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระปิดตาที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีดำริให้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ทรงเสด็จยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน แม้นเป็นพระเครื่องที่จัดสร้างหลังงานยกช่อฟ้าฯ แต่ก็คงเป็นพระเครื่องที่มีศิลปะงดงาม มีส่วนผสมของมวลสารต่างๆ มากมาย และผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวจากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มาอย่างดี เป็นของดีราคาเบาที่ไม่ควรมองข้าม