วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: พระปิดตาญาณเรศและพระปรกใบมะขาม หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม


 พระปิดตาญาณเรศและพระปรกใบมะขาม หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม

โดย...ชายนำ ภาววิมล...


    พระครูวิโรจน์ศาสนกิจ (ช่วง ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดควนปันตาราม ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกรซึ่งมีอายุพรรษามากที่ สุดรูปหนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน  หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เป็นศิษย์เอกผู้สืบสายพุทธาคมของพระครูรัตนาภิรัต (หลวงพ่อแก้ว:เน) วัดควนปันตาราม หลวงพ่อแก้ว(เน) รูปนี้เป็นศิษย์พระอาจารย์ทองเฒ่า ปรมาจารย์ใหญ่แห่งสำนักเขาอ้อ ว่ากันว่าพระเวทย์วิทยาคมและคัมภีร์ต่างๆของสำนักเขาอ้อตกทอดมาถึงหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม มีความเชี่ยวชาญในพระเวทย์วิทยาคมสำนักเขาอ้อเพียงใด 

     ด้านพระเครื่องและวัตถุมงคล หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เริ่มจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในนามของท่านเองตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ แม้ว่า “พระกริ่งรัตนา” ซึ่งเป็นพระกริ่งรุ่นแรกของท่าน มีลักษณะเป็นพระกริ่งขนาดเล็กและไม่มีความงดงามตามแบบอย่างสมัยนิยม เนื่องจากเป็นพระที่หล่อกันเองภายในวัดควนปันตารามโดยช่างฝีมือบ้านๆ จะหาสวยๆ สักองค์ก็ยากเต็มที แต่ถ้าจะพูดกันถึงพุทธคุณกันละ...เก้อ ลูกศิษย์สายตรงส่วนใหญ่รู้ดีว่าพระกริ่งรัตนาชุดนี้ มิได้ด้อยไปกว่าพระสวยๆ ศิลปะดีๆ ที่สร้างขึ้นในภายหลังแม้แต่น้อย ที่สำคัญคือหลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม นำคำว่า “รัตนา”ซึ่งเป็นคำหนึ่งในสมณะศักดิ์ของหลวงพ่อแก้ว(เน) มาตั้งเป็นชื่อพระกริ่งรุ่นแรกของท่าน การที่พระเกจิอาจารย์อาวุโสอย่างหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม นำชื่อของครูบาอาจารย์มาตั้งเป็นชื่อพระเครื่อง/วัตถุมงคลชุดใดชุดหนึ่ง ย่อมเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ให้ความสำคัญกับพระกริ่งชุดนี้เพียงใด เวลายี่สิบปีผ่านไป“พระกริ่งรัตนา”เป็นพระกริ่งของพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่หายากมากพิมพ์หนึ่ง



พระกริ่งรัตนา หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม รุ่นแรก

    ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม อนุญาตให้คณะศิษย์ฯ สร้างพระรูปเหมือนของท่านหลายรุ่น อาทิ พระรูปหล่อลอยองค์รุ่นแรก อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส ปี ๒๕๔๐, เหรียญรุ่นแรก ฉลองอายุ ๗๒ ปี สร้างเมื่อปี ๒๕๔๒, พระปิดตารุ่นแรก ปี ๒๕๔๕, พระเครื่อง/วัตถุมงคลต่างๆของท่านหลายพิมพ์เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหาของศิษย์สายนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีหลายพิมพ์ที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารออกมาให้เห็นมากนัก เลยถึงคราวถึงวาระที่ต้องหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังบ้าง



พระรูปหล่อหลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม พัทลุง รุ่นแรก


เหรียญหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม พัทลุง รุ่นแรก


พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม พัทลุง

พระปิดตาญาณนเรศร์ ปี ๒๕๔๙

    พระปิดตาญาณนเรศร์เป็นพระปิดตาเนื้อผงดำที่สร้างขึ้นในปี ๒๕๔๙ โดยการนำยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ บางคนเรียกยันต์นี้ว่า “ยันต์นเรศวรชนช้าง” มาเป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาญาณนเรศร์ ยันต์นี้เป็นหนึ่งในตำราพิชัยสงครามที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บันทึกใน “คัมภีร์พระเวท ฉบับจัตตถบรรพ” หน้า ๑๘๐ ว่า ...ท่านตีค่าไว้ถึงร้อยเอ็ดพระนคร... และกล่าวถึงอุปเท่ห์ในการใช้ยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ว่า..ถ้าจะเข้าเฝ้าท้าวพระยา ให้รูดตะกรุดดอกนี้มาไว้ข้างหน้าที่ตรงสะดือ และถ้าจะให้ท่านเมตตาเราให้รูดตะกรุดมาไว้ข้างขวาแลท่านเมตตาเรา ถ้าจะให้หญิงรัก ให้เอาใบรักมาลงชื่อ ปี วัน เดือน แล้วเอาใบรักนั้นสีสายตะกรุดเสียก่อน จึงให้รูดตะกรุดนั้นมาไว้ข้างซ้าย เห็นหน้าเรารักเรานักแล ถ้าจะให้คนทั้งหลายรักให้เอาหญ้าเกล็ดหอย มาสีสายตะกรุด แล้วรูดมาไว้ข้างขวารักเรานักแล ถ้าโจรผู้ร้ายรุกรานปล้นหนทาง หรือจะกันสัตรูทั้งในน้ำและบนบกก็ดี ให้เอายอดสันพร้ามอญและใบขัดมอญ มาสีสายตะกรุดเสียก่อน แล้วรูดมาไว้ข้างขวา สัตรูทำอันตรายแก่เรามิได้ ถ้าจะกันโจรผู้ร้ายให้รูดมาข้างหลัง มันกลัวเรานัก ถึงจะมาลักของก็เอาไปมิได้ ถ้าจะไปสู้ความ ให้เอาตะกรุดรูดไปไว้ข้างหน้า ไปว่าความมีชัยชนะแล ถ้าจะให้เป็นคงกระพันชาตรี ให้เอาใบแสนกำลังหนุมาณกับยอดขัดมอญมาสีสายตะกรุดเสียก่อนแล้วรูดตะกรุดมาไว้ข้างหน้า ท่านว่าเป็นล่องหนกำบังจับเรามิถูกเราเลย ถ้าจะนอนป่ากลัวสัตว์ร้ายต่างๆ จะทำอันตราย หรือจะนอนที่ใดๆ ก็ดี ให้รูดตะกรุดมาไว้ข้างหลัง สารพัดคุ้มกันภัยได้ทุกสิ่งแล ถ้าบังเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น ให้เอาตะกรุดแช่น้ำกินบ้างอาบบ้าง หายสิ้นแล...." นอกจากอุปเทห์ที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บันทึกไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้ว สีหวัชร ศิษย์เอกของอดีตพระครูหนู (นิรันดร์ แดงวิจิตร) วัดสุทัศน์เทพวราราม ผู้สืบสายพุทธาคมสมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทโว อธิบายขยายความเกี่ยวกับความเป็นมาและความพิสดารของยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ในคอลัมน์อักขระเลขยันต์ นิตยสารพระเกจิ 


พระปิดตาญาณนเรศร์ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม พัทลุง



    การนำยันต์ตะกรุดญาณนเรศร์มาเป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาสายเขาอ้อ มีการปรับเปลี่ยนแต่งเติมให้พระปิดตารุ่นนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง คงไว้ซึ่งความเป็นพระปิดตาสายเขาอ้อ โดยปรับเปลี่ยนรูปพระปิดตาจากเดิมที่เป็นพระปิดตามหาลาภมาเป็นพระปิดตามหาอุตม์พิมพ์ว่าวจุฬา ซึ่งเป็นพระปิดตาพิมพ์นิยมของสำนักเขาอ้อ ในส่วนตัวยันต์ มีการเพิ่มพระคาถาในกระดูกยันต์อีก ๒ บท คือ ธาตุสี่ “นะ มะ พะ ทะ” ที่มุมกระดูกยันต์ทั้งสี่ด้าน และพระคาถาอริยสัจสี่ “ทุสะนิมะ สะนิมะทุ นิมะทุสะ มะทุสะนิ” ในกระดูกยันต์ทั้งสี่ด้าน พระคาถานี้ ศิษย์ฆราวาสที่ปรนนิบัติรับใช้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน เคยบอกกับผู้เขียนว่า พระคาถานี้ มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “หัวใจมนุษย์” เป็นพระคาถาที่พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อหลายรูปนิยมใช้กัน นอกจากนั้น ยังเพิ่มอักขระในพระคาถาสองชุดที่ทำให้แบบด้านหน้าพระปิดตาญาณนเรศร์นี้ มีความสวยงามลงตัวมากยิ่งขึ้น คือ ด้านบนและด้านซ้ายด้านขวา ประทับด้วยอักขระ ๓ ตัว “อุ มะ อะ” และใต้ยันต์ ประทับด้วยหัวใจพระคาถา ๓ ตัว “อิสวาสุ” ส่วนด้านยันต์คงไว้ซึ่งลักษณะของยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ และจารึกชื่อ “หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม จ.พัทลุง” รอบยันต์หลัง

    พระปิดตาญาณนเรศร์ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นจากว่านยาและมวลสารต่างๆ มายมาย ด้านหน้าฝังเกศาหลวงพ่อช่วง ฐิติธมฺโม มีจำนวนการสร้างประมาณ ๕,๒๐๐ องค์ เท่าที่ทราบพระปิดตาชุดนี้ หมดไปจากวัดควนปันตารามนานแล้ว คนที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่เดินทางมากราบนมัสการท่าน นักนิยมพระเครื่องสายนี้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระปิดตาชุดนี้น้อยมาก บางคนมองข้ามความสำคัญของพระปิดตาเนื้อผงเพราะฝังใจว่าชำรุดแตกหักง่ายเก็บรักษายากโดยหารู้ไม่ว่านี่คือสุดยอดพระปิดตาของหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม อีกพิมพ์หนึ่ง เป็นพระปิดตาที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นอย่างดี และเป็นพระปิดตาที่ลูกศิษย์ในสายนี้น่านำไปจับขอบทองบางๆ ขึ้นคอมากที่สุด ถ้ายกซุ้มด้วยละเก้อ ยิ่งงามจับใจ ...สวย เท่ห์ ขลัง...

พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๗

    พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๗ เป็นพระประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม มอบหมายให้คณะศิษย์ดำเนินการจัดสร้างเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างมณฑป ลักษณะเป็นพระปรกใบมะขามขนาดค่อนข้างเขื่องกว่าพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหลังประทับด้วยยันต์ “พะซ้อน” และอักษรระบุนาม “ช่วง ฐิตธมฺโม พัทลุง” มีทั้งหมด ๗ เนื้อ คือ ทองคำ ๑๓ องค์ เงิน ๑๕๒ องค์ ชนวนสำริด ๑๒ องค์ นวโลหะ ๑๙๘ องค์ ชินตะกั่ว ๑๒ องค์ ทองเหลือง ๙๑๒ องค์ ทองแดง ๗๙๖๐ องค์


พระปรกใบมะขามหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม รุ่นแรก

    การสร้างพระปรกใบมะขามครั้งนี้ จัดเป็นชุด ๓ ชุด คือ

       ๑. ชุดกรรมการใหญ่ ๑๒ ชุด (ทองคำ เงิน สำริด นวโลหะ ชินตะกั่ว อย่างละ ๑ องค์ ทองเหลือง ๑๐ องค์ ทองแดง ๑๕๐ องค์)
       ๒. ชุดกรรมการเล็ก ๑๔๐ ชุด (เงิน นวโลหะ อย่างละ ๑ องค์ ทองเหลือง ๕ องค์ ทองแดง ๓๐ องค์
       ๓. ชุดของขวัญ ๔๖ ชุด (นวโลหะ ๑ องค์ ทองเหลือง ๒ องค์ ทองแดง ๑๐ องค์)

    สำหรับโค้ดของพระปรกใบมะขามชุดนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นข้อมูลพพื้นฐานสำหรับการเล่นหาในวันข้างหน้า คือ ใช้ “” เป็นหลักในการตอกโค้ดทุกเนื้อ และเพิ่มโค้ดอีกหนึ่งตัวโดยการนำอักษรย่อของโลหะมาตอกเพื่อจำแนกแยกแยะลักษณะของโลหะที่จัดเข้าไปอยู่ในพระปรกใบมะขามแต่ละชุด (“ท” ทองคำ, “ง” เงิน, “ส” สำริด, “น” นวโลหะ, “ช” ชินตะกั่ว, “ล” ทองเหลือง, “ด” ทองแดง) ยกเว้นพระปรกใบมะขามเนื้อทองแดง จำนวน ๑๕๐๐ องค์ ที่ถวายหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ตอกโค้ด “ช” เพียงตัวเดียว นอกจากนั้น มีการตอกหมายเลขกำกับพระปรกใบมะขาม ๔ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน นวโลหะ ชนวนสำริด

       พระปิดตาญาณนเรศร์ พระปรกใบมะขามรุ่นแรกหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม เป็นพระเครื่องที่ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน จะรับรู้กันก็เฉพาะในกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิด ทำให้นักนิยมพระเครื่องสายนี้ไม่มีข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการเล่นหาสะสมพระหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม อย่างครบถ้วน จึงบันทึกและนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเล่นหาและสะสมพระหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ในวันข้างหน้า

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

ิbuddhasilapa : พระกริ่งเพชรกลับ หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง


พระกริ่งเพชรกลับ หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง

โดย...ชายนำ ภาววิมล...

      ในบรรดาพระกริ่งรุ่นต่างๆ ที่สร้างขึ้นในนามของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง พระกริ่งเพชรกลับเป็นพระกริ่งสำคัญที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนัก มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกันบ้าง ก็เป็นเพียงภาพเล็กๆ ในหนังสือภาพพระเครื่องที่ทางวัดตาลกงมอบหมายให้นิตยสารพระเกจิจัดพิมพ์ขึ้น พระกริ่งเพชรกลับเป็นสุดยอดพระกริ่งสำนักวัดตาลกงที่ศิษย์สายตรงที่รู้ข้อมูลประเภทเจาะลึก ต่างหวงแหนและเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดียิ่ง เพราะเป็นพระกริ่งที่มีจำนวนการสร้างน้อยมาก จัดสร้างขึ้นโดยหนึ่งในกรรมการอำนวยการจัดสร้างพระบรมรูปจำลองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสครบรอบสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๕๐ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เคารพศรัทธาหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม และเป็นตัวตั้งตัวตีในการนิมนต์ท่านไปอธิษฐานจิตแผ่เมตตาในพิธีชัยมังคลาภิเษก ที่ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้น นักนิยมพระเครื่องทั่วไปยังไม่รู้จักมักคุ้นกับชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เลย ที่สำคัญยิ่ง คือ เนื้อหามวลสารที่ใช้สร้างพระกริ่งรุ่นนี้ เป็นชนวนล้วนๆ ไม่มีส่วนผสมของโลหะอื่นๆ จึงมีจำนวนการสร้างเพียงไม่กี่องค์



พระกริ่งสะดุ้งกลับ หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง ปี ๒๕๔๔ เนื้อชนวน

พระกริ่งเพชรกลับ หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นในช่วงที่ผู้สร้างเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับวงการพระเครื่องที่ตนเคยมีบทบาทในหลายด้านและหันไปสนใจทุ่มเทให้กับงานศึกษาวิจัยด้านการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีมูลเหตุจูงใจในการสร้างพระกริ่งชุดนี้ คือ มีชนวนดีๆ ที่เก็บไว้ รายการ คือ 

๑) ก้านชนวนพระบรมรูปจำลองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเททองเป็นปฐมฤกษ์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน องค์ โดยมีพระครูวามเทพมุนีเป็นเจ้าพิธี 
๒) โลหะก้นเบ้าเนื้อนวโลหะที่เหลือจากการหล่อพระกริ่งสายวัดสุทัศน์เทพวราราม ที่ได้รับจากช่างสฤษดิ์ สามนกฤษณะ หรือช่างหริ น้ำหนักประมาณ ๔ - ๕ กิโลกรัม 

ทั้งไม่อยากเก็บโลหะชนวนดังกล่าวไว้เป็นภาระต่อไปในอนาคตและมีงานสร้างพระเครื่องที่ปารวนาว่าจะจัดสร้างถวายหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม อีกสองพิมพ์ จึงตัดสินใจนำชนวนทั้งสองรายการดังกล่าวมาสร้างพระกริ่งแบบโบราณ คือ หล่อด้วยกรรมวิธีที่เรียกกันว่า “เทมือเบ้าปูน” เททองโดยช่างหริ โรงหล่อหลังวัดไชยทิศ

การจัดสร้างพระกริ่งเพชรกลับครั้งนี้เป็นการหล่อพระกริ่งแบบทิ้งทวนด้วยเหตุผลหลัก ประการ คือ 

๑) นำโลหะชนวนทั้งสองรายการผสมกับชนวนเก่าที่เก็บสะสมมานานกว่าสิบปี อาทิ ชนวนพระรุ่นต่างๆ ของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม, หลวงปู่คำ สุวณฺณโชโต วัดหนองแก, พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน, หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ, หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม มาหลอมรวมและหล่อพระกริ่งจนเหลือเพียงก้านเดียวและไม่สามารถจะทำการหล่อต่อไปได้ 
๒) การเททองหล่อพระกริ่งเพชรกลับครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สร้างกับช่างหริเป็นครั้งสุดท้าย อายุช่างหริในขณะนั้น ใกล้จะครบ ๗๒ ปี แม้ร่างกายและใจยังสู้ แต่สังขารเริ่มไม่เอื้อต่อการทำงานหนักที่ต้องอยู่กับเตาหลอมโลหะซึ่งมีความร้อนสูงแบบเดิม จึงขอให้ช่างหริเททองหล่อพระกริ่งครั้งนี้แบบสุดฝีมือ โดยมี เนื้อ คือ
  
   ๒.๑ เนื้อชนวนพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ฯ จัดเป็นเนื้อหลักของพระกริ่งชุดนี้ สร้างขึ้นจากชนวนพระกริ่งนวโลหะแบบเต็มสูตรของวัดแห่งหนึ่งที่จัดสร้างพระกริ่งในสายวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งผู้สร้างได้รับมอบเนื้อชนวนนี้จากช่างหริ ผสมกับชนวนพระต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ชนวนโลหะที่มีอยู่สามารถหล่อพระกริ่งได้เพียง ๗๙ องค์ วรรณะสีผิวออกแดง องค์ที่ผ่านการสัมผัสบ่อยๆ และถูกอากาศเป็นประจำ จะกลับดำเร็วกว่าปกติ ใต้ฐานตอกโค้ดและหมายเลขกำกับทุกองค์







    ๒.๒ เนื้อชนวนหล่อพระบรมรูปจำลองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเนื้อพิเศษสุดของพระกริ่งชุดนี้ สร้างขึ้นจากก้านชนวนหล่อพระบรมรูปฯ ผสมกับนวโลหะที่เหลือจากการหล่อพระกริ่งชุดแรก หล่อพระกริ่งได้เพียง ๒๕ องค์ วรรณะสีผิวออกเหลืองอมแดง ด้านหลังตอกโค๊ดรูปพระเกี้ยวเพื่อแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างเนื้อทั้งสองแบบ ใต้ฐานตอกโค้ดและหมายเลขกำกับทุกองค์

ด้านพิธีกรรม 
หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยววันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นวันดีที่สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ฯ นิยมใช้เททองหล่อพระกริ่งเป็นประจำทุกปี วัตถุมงคลอื่นๆ ที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวในพิธีนี้ ประกอบด้วย 

๑) พระพิมพ์สมเด็จขี่เสือ เนื้อสัมฤทธิเดช จำนวน ๓๐๐ องค์ 

๒) เหรียญพระพรหม รุ่นแรก เนื้อนวโลหะสูตรพิเศษ ๑๖ เหรียญ เนื้อเงิน ๔๙ เหรียญ เหรียญอัลปากา ๙๙๙ เหรียญ



๓) เสือหล่อ 





         ที่ผ่านมา พระเครื่อง/วัตถุมงคลชุดนี้ ยังนิยมเล่นหาในวงจำกัดเนื่องจากจำนวนการสร้างมีน้อยมาก ข้อมูลต่างที่เป็นเกี่ยวเนื่องกับการจัดสร้าง ถูกเก็บเงียบมานาน ไม่ได้นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ประกอบกับทางเลือกในการสะสมเล่นหาวัตถุมงคลที่สร้างในนามของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม มีมากจนยากที่ใครคนใดคนหนึ่งยากจะตามเก็บได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นเรื่องปกติที่วงการพระเครื่อง มองข้ามพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ไม่มีการหมุนเวียนให้เล่นหากันในวงกว้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ศิษย์สายตรงที่ติดตามข้อมูลข่าวสารและสะสมเล่นหาวัตถุมงคลของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม กลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ซุ่มเก็บพระชุดนี้เงียบๆ แต่สู้ราคาไม่ถอย เหตุผลหลักที่ประมวลได้ คือ เนื้อหามวลสารและรูปแบบที่จัดสร้างมีความโดดเด่น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระกริ่งสายอื่นๆ ที่วงการพระเครื่องนิยมเล่นกันเป็นสากล ศิลปะก็งดงามสวยซึ้งแบบพระหล่อโบราณที่สำนักต่างๆ ในยุคสมัยนี้ไม่ค่อยนิยมทำกัน เพราะมีกระบวนการสร้างที่ยุ่งยากซับซ้อน หากช่างหล่อไม่มีฝีมือหรือความชำนาญจริงๆ โอกาสที่พระจะชำรุดเสียหายมีมาก ถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมาคือ พระกริ่งเพชรกลับน่าจะเป็นพระกริ่งในตำนานพระเครื่องของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม ที่นักนิยมพระเครื่องสายนี้มีโอกาสสัมผัสและพบเห็นน้อยมาก นิยมเล่นหาอยู่เฉพาะในกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของนิตยสารพระเกจิที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบเจาะลึก ชอบพระกริ่งที่สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ และมีความเชื่อถือในตัวของลูกศิษย์ผู้สร้างถวาย ส่วนเหรียญพระพรหม แม้จะเป็นงานตามสมัยนิยม แต่ก็เป็นงานระดับมืออาชีพของช่างตุ้มหรือโสภณ ศรีรุ่งเรือง ที่สามารถวางสัดส่วน ช่วงระยะ (Space) ของเหรียญได้อย่างลงตัว สวยงามคมชัด

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

ิbuddhasilapa: เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗


เหรียญเกราะเพชร์ วัดบพิตรพิมุข กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗

โดย.......ชายนำ ภาววิมล.......

        ภาพรวมของการเล่นหาและสะสมเหรียญพุทธคุณ เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมและเล่นหากันในวงกว้าง โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ลักษณะการเล่นหาและสะสมพระเครื่องที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มี Smart phone เป็นพระเอกในการสื่อสารบนโลกยุคใหม่ วัตถุมงคลและพระเครื่องของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ มีช่องทางการนำเสนอและเข้าถึงนักนิยมพระเครื่องมากขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่สามารถเสนอขายวัตถุมงคลและพระเครื่องบนสื่อออนไลน์ได้โดยเสรี ผลที่ตามมาคือ มีการนำเสนอข้อมูลและภาพเหรียญรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังในระดับท้องถิ่นขึ้นบนเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก มีการจัดตั้งกลุ่มสาธารณะต่างๆมากมาย วัตถุมงคลและพระเครื่องที่คนไม่รู้จักมาก่อน ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น มีสายตรงที่เชี่ยวชาญในการเล่นหาสะสมพระเครื่อง/วัตถุมงคลของพระเกจิอาจารย์แต่ละสายเพิ่มขึ้น เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์สภาพสวยเดิมๆ  ศิลปะดีแลสวยงามตระการตา ที่เคยถูกมองข้ามไปเมื่อวันวาน ก็มีคนตามเก็บและสู้ราคากันแบบเห็นแล้วสะดุ้งไปหลายตลบ แต่ก็ยังมีพระเครื่องและวัตถุมงคลอีกจำนวนมากที่ยังเล่นหาอยู่ในวงแคบๆ สนนราคาเช่าหาก็ต่ำมาก ทั้งๆ ที่พระเครื่องและวัตถุมงคลเหล่านั้น เป็นของชั้นดี มีศิลปะงดงาม พิธีกรรมก็เยี่ยมยอดสุดๆ ทั้งนี้เพราะนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ไม่รู้จัก

         พระเครื่องและวัตถุมงคลที่มีค่านิยมในการเล่นหาไม่สูงมากนักหรือนิยมเล่นหากันเฉพาะกลุ่มลูกศิษย์ พระเบ็ดเตล็ดหรือพระลูกย่อยที่ซื้อเข้าง่ายขายออกยาก มิได้หมายความว่าเป็นพระเครื่องที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่มีอนาคต แต่เป็นโอกาส... โอกาสสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบในพุทธศิลป์แบบใจรักจะเลือกเก็บสะสมพระเครื่อง หรือเหรียญตามแนวทางที่ตนชอบในราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไป แถมยังได้พระสวยๆ เลี่ยมกันน้ำไว้อวดเพื่อนฝูงอีกต่างหาก หรือจะให้ลูกหลานห้อยคอติดตัวไปไหนต่อไหน ก็สบายใจไม่ต้องกลัวใครมากระชากแย่งชิงหรือทำร้ายร่างกายคนที่เรารัก พระเครื่องและวัตถุมงคลในกลุ่มนี้ มีให้เห็นอีกพอสมควร หนึ่งในนั้น คือ เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗  

เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข ปี ๒๕๐๗

         เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข เป็นเหรียญขนาดเล็กลักษณะคล้ายใบมะขามที่มีอายุการสร้างนานกว่าสี่สิบปี เป็นเหรียญที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ของวัดบพิตรพิมุขหลายครั้งหลายหน สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กนำไปคล้องคอติดตัวโดยเฉพาะ ประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างที่ระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของวัดบพิตรพิมุข มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า “ในปี ๒๕๐๗ พระสิรินันทมุนี เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข ถนนจักรวรรดิ พระนคร ดำริที่จะสร้างพระเครื่องขึ้นมาสักรุ่นหนึ่งเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างกุฏิสงฆ์ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา นอกจากวัตถุประสงค์ในการหาทุนแล้ว พระสิรินันทมุนียังมีความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างพระเครื่องที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธ์แห่งพุทธมนต์ อักขระพระคาถาหัวใจไตรสรณาคม และพิธีกรรมตามตำรับตำราที่สืบทอดมาจากหลวงปู่ไข่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข เพื่อให้ผู้ที่นำไปสักการบูชาเป็นเครื่องมนสิการ ยังความ สำเร็จสถาพรมาสู่ชีวิต”

         เหรียญเกราะเพชร เป็นเหรียญที่มีลักษณะและขนาดเล็กเท่าพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหน้าเป็นภาพจำลองหลวงพ่อแสน พระพุทธรูปสำคัญของวัดบพิตรพิมุข ข้างพระเศียรเป็นอักขระขอม ๔ ตัว คือ พุท ธะ สัง มิ  ใต้ฐานเป็นอักษรย่อ “ว.บ.พ.” (วัดบพิตรพิมุข) ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์เกราะเพชร หลวงพ่อแสนองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างตามแบบศิลปะเชียงแสน องค์เดิมเป็นเนื้อทองขาวล้วน เมื่อคราวที่วัดบพิตรพิมุขประสบอัคคีภัย หลวงพ่อแสนถูกไฟไหม้เหลือแต่พระเศียร พระสิรินันทมุนี บูรณะใหม่ให้เป็นองค์ที่สมบูรณ์ในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเข้าไว้ในพระเกศ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ และถวายพระนามใหม่ว่า“พระพุทธนันทมหามุนี ศรีอุตตร บุรีเชียงแสน อายุวัฒนโลกุตตมาจารย์


เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข ปี ๒๕๐๗

         พิธีพุทธาภิเษกจัดขึ้นที่พระอุโบสถวัดบพิตรพิมุข เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ศุภฤกษ์เวลา ๑๓ นาฬิกา ๒๕ นาที ประกอบด้วยภะระณี คือ มหัทธะโน ๒ แห่งฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ มีลาภผลดี เจริญสุขดียิ่ง พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๖ รูป อธิษฐานจิตปลุกเสก พระเกจิอาจารย์ ๑๖ รูป ประกอบด้วย

               ๑) พระครูอาทรสิกขกิจ (บุญมี อิสโร) วัดเขาสมอคอน ลพบุรี 
               ๒) พระครูอนุกูลคณารักษ์ (เงิน) วัดสว่างอารมณ์ นครนายก 
               ๓) พระครูสังวรโสภณ (มาก) วัดปากคลอง ลพบุรี 
               ๔) พระครูสุเทพสิทธิการย์ (ทองอยู่ ฐิติญาโณ) วัดเทวประสาท พิจิตร  
               ๕) พระครูสุขวุฒาจารย์ (สุข สุขสโร) วัดบางลี่ ลพบุรี 
               ๖) พระครูพิศาลสรกิจ (กลิ่น) วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๗) พระครูสละ ปุญญสุวณฺโณ (หลวงพ่อฤาษี) วัดท้องคุ้ง ลพบุรี 
               ๘) พระอาจารย์เพิ่ม สุวิโจ วัดจักรวรรดิราชาวาส  
               ๙) พระอาจารย์ถิร วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๐) หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม นครปฐม 
               ๑๑) พระครูสรกิจพิจารณ์ (ผัน จิณฺณธมฺโม) วัดราษฎร์เจริญ สระบุรี 
               ๑๒) ปรมาจารย์ผ่อง จินดา วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๑๓) พระอาจารย์โชติ วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๑๔) พระมหาสอน (ศิษย์เอกหลวงปู่ไข่) วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๕) พระครูสาธุธรรมคุณาธาร (วน อหิสโก) วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๖) พระครูสถาพรพุทธมนต์ (สำเนียง อยู่สถาพร) วัดเวฬุวนาราม นครปฐม

         เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ช่วงแรกที่ทางวัดนำออกให้เช่าบูชาใหม่ๆ มีด้ายสำหรับผูกข้อมือติดมากับเหรียญ เพื่อนำไปผูกข้อมือเด็ก จะได้เลี้ยงง่าย ไม่อ้อน ไม่เจ็บไข้ เมื่อหมดความจำเป็นก็ให้นำด้ายออกเหลือแต่เหรียญไว้ติดตัวเด็กเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ นานา เวลาจะผูกข้อมือเด็กให้ระลึกถึงหลวงพ่อแสน แล้วภาวนาพระคาถา “คะ พุทธ ปัน ทู ธัม วะ คะ” เด็กจะสมบูรณ์โตวันโตคืน


         เนื่องจากเหรียญรุ่นนี้ มีจำนวนการสร้างมากพอสมควร ทางวัดก็มิได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงจุดเด่นของเหรียญฯ อย่างจริงจัง เป็นเหตุให้เหรียญรุ่นนี้ เหลือตกค้างที่วัดนานมากกว่า ๒๐ ปี ผิดกับพระปรกใบมะขามที่ทางวัดบพิตรพิมุขจัดสร้างในปี ๒๕๑๖ ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี มาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วย ทำให้พระปรกใบมะขามรุ่นนั้นหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว การเหลือตก ค้างที่วัดบพิตรพิมุขก็มีผลดีเช่นกัน ทางวัดนำวัตถุมงคลและพระเครื่องที่สร้างในปี ๒๕๐๗ เข้าพิธีพุทธาภิเษก อีกหลายครั้ง อาทิ ปี ๒๕๑๕, ๒๕๑๖, ๒๕๓๖ เหรียญเกราะเพชรรุ่นนี้หมดไปจากวัดบพิตรพิมุข ราวปี ๒๕๓๘ – ๒๕๓๙