วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

ิbuddhasilapa: เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗


เหรียญเกราะเพชร์ วัดบพิตรพิมุข กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗

โดย.......ชายนำ ภาววิมล.......

        ภาพรวมของการเล่นหาและสะสมเหรียญพุทธคุณ เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมและเล่นหากันในวงกว้าง โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ลักษณะการเล่นหาและสะสมพระเครื่องที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มี Smart phone เป็นพระเอกในการสื่อสารบนโลกยุคใหม่ วัตถุมงคลและพระเครื่องของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ มีช่องทางการนำเสนอและเข้าถึงนักนิยมพระเครื่องมากขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่สามารถเสนอขายวัตถุมงคลและพระเครื่องบนสื่อออนไลน์ได้โดยเสรี ผลที่ตามมาคือ มีการนำเสนอข้อมูลและภาพเหรียญรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังในระดับท้องถิ่นขึ้นบนเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก มีการจัดตั้งกลุ่มสาธารณะต่างๆมากมาย วัตถุมงคลและพระเครื่องที่คนไม่รู้จักมาก่อน ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น มีสายตรงที่เชี่ยวชาญในการเล่นหาสะสมพระเครื่อง/วัตถุมงคลของพระเกจิอาจารย์แต่ละสายเพิ่มขึ้น เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์สภาพสวยเดิมๆ  ศิลปะดีแลสวยงามตระการตา ที่เคยถูกมองข้ามไปเมื่อวันวาน ก็มีคนตามเก็บและสู้ราคากันแบบเห็นแล้วสะดุ้งไปหลายตลบ แต่ก็ยังมีพระเครื่องและวัตถุมงคลอีกจำนวนมากที่ยังเล่นหาอยู่ในวงแคบๆ สนนราคาเช่าหาก็ต่ำมาก ทั้งๆ ที่พระเครื่องและวัตถุมงคลเหล่านั้น เป็นของชั้นดี มีศิลปะงดงาม พิธีกรรมก็เยี่ยมยอดสุดๆ ทั้งนี้เพราะนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ไม่รู้จัก

         พระเครื่องและวัตถุมงคลที่มีค่านิยมในการเล่นหาไม่สูงมากนักหรือนิยมเล่นหากันเฉพาะกลุ่มลูกศิษย์ พระเบ็ดเตล็ดหรือพระลูกย่อยที่ซื้อเข้าง่ายขายออกยาก มิได้หมายความว่าเป็นพระเครื่องที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่มีอนาคต แต่เป็นโอกาส... โอกาสสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบในพุทธศิลป์แบบใจรักจะเลือกเก็บสะสมพระเครื่อง หรือเหรียญตามแนวทางที่ตนชอบในราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไป แถมยังได้พระสวยๆ เลี่ยมกันน้ำไว้อวดเพื่อนฝูงอีกต่างหาก หรือจะให้ลูกหลานห้อยคอติดตัวไปไหนต่อไหน ก็สบายใจไม่ต้องกลัวใครมากระชากแย่งชิงหรือทำร้ายร่างกายคนที่เรารัก พระเครื่องและวัตถุมงคลในกลุ่มนี้ มีให้เห็นอีกพอสมควร หนึ่งในนั้น คือ เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗  

เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข ปี ๒๕๐๗

         เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข เป็นเหรียญขนาดเล็กลักษณะคล้ายใบมะขามที่มีอายุการสร้างนานกว่าสี่สิบปี เป็นเหรียญที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ของวัดบพิตรพิมุขหลายครั้งหลายหน สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กนำไปคล้องคอติดตัวโดยเฉพาะ ประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างที่ระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของวัดบพิตรพิมุข มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า “ในปี ๒๕๐๗ พระสิรินันทมุนี เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข ถนนจักรวรรดิ พระนคร ดำริที่จะสร้างพระเครื่องขึ้นมาสักรุ่นหนึ่งเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างกุฏิสงฆ์ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา นอกจากวัตถุประสงค์ในการหาทุนแล้ว พระสิรินันทมุนียังมีความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างพระเครื่องที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธ์แห่งพุทธมนต์ อักขระพระคาถาหัวใจไตรสรณาคม และพิธีกรรมตามตำรับตำราที่สืบทอดมาจากหลวงปู่ไข่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข เพื่อให้ผู้ที่นำไปสักการบูชาเป็นเครื่องมนสิการ ยังความ สำเร็จสถาพรมาสู่ชีวิต”

         เหรียญเกราะเพชร เป็นเหรียญที่มีลักษณะและขนาดเล็กเท่าพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหน้าเป็นภาพจำลองหลวงพ่อแสน พระพุทธรูปสำคัญของวัดบพิตรพิมุข ข้างพระเศียรเป็นอักขระขอม ๔ ตัว คือ พุท ธะ สัง มิ  ใต้ฐานเป็นอักษรย่อ “ว.บ.พ.” (วัดบพิตรพิมุข) ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์เกราะเพชร หลวงพ่อแสนองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างตามแบบศิลปะเชียงแสน องค์เดิมเป็นเนื้อทองขาวล้วน เมื่อคราวที่วัดบพิตรพิมุขประสบอัคคีภัย หลวงพ่อแสนถูกไฟไหม้เหลือแต่พระเศียร พระสิรินันทมุนี บูรณะใหม่ให้เป็นองค์ที่สมบูรณ์ในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเข้าไว้ในพระเกศ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ และถวายพระนามใหม่ว่า“พระพุทธนันทมหามุนี ศรีอุตตร บุรีเชียงแสน อายุวัฒนโลกุตตมาจารย์


เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข ปี ๒๕๐๗

         พิธีพุทธาภิเษกจัดขึ้นที่พระอุโบสถวัดบพิตรพิมุข เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ศุภฤกษ์เวลา ๑๓ นาฬิกา ๒๕ นาที ประกอบด้วยภะระณี คือ มหัทธะโน ๒ แห่งฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ มีลาภผลดี เจริญสุขดียิ่ง พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๖ รูป อธิษฐานจิตปลุกเสก พระเกจิอาจารย์ ๑๖ รูป ประกอบด้วย

               ๑) พระครูอาทรสิกขกิจ (บุญมี อิสโร) วัดเขาสมอคอน ลพบุรี 
               ๒) พระครูอนุกูลคณารักษ์ (เงิน) วัดสว่างอารมณ์ นครนายก 
               ๓) พระครูสังวรโสภณ (มาก) วัดปากคลอง ลพบุรี 
               ๔) พระครูสุเทพสิทธิการย์ (ทองอยู่ ฐิติญาโณ) วัดเทวประสาท พิจิตร  
               ๕) พระครูสุขวุฒาจารย์ (สุข สุขสโร) วัดบางลี่ ลพบุรี 
               ๖) พระครูพิศาลสรกิจ (กลิ่น) วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๗) พระครูสละ ปุญญสุวณฺโณ (หลวงพ่อฤาษี) วัดท้องคุ้ง ลพบุรี 
               ๘) พระอาจารย์เพิ่ม สุวิโจ วัดจักรวรรดิราชาวาส  
               ๙) พระอาจารย์ถิร วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๐) หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม นครปฐม 
               ๑๑) พระครูสรกิจพิจารณ์ (ผัน จิณฺณธมฺโม) วัดราษฎร์เจริญ สระบุรี 
               ๑๒) ปรมาจารย์ผ่อง จินดา วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๑๓) พระอาจารย์โชติ วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๑๔) พระมหาสอน (ศิษย์เอกหลวงปู่ไข่) วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๕) พระครูสาธุธรรมคุณาธาร (วน อหิสโก) วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๖) พระครูสถาพรพุทธมนต์ (สำเนียง อยู่สถาพร) วัดเวฬุวนาราม นครปฐม

         เหรียญเกราะเพชร วัดบพิตรพิมุข เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ช่วงแรกที่ทางวัดนำออกให้เช่าบูชาใหม่ๆ มีด้ายสำหรับผูกข้อมือติดมากับเหรียญ เพื่อนำไปผูกข้อมือเด็ก จะได้เลี้ยงง่าย ไม่อ้อน ไม่เจ็บไข้ เมื่อหมดความจำเป็นก็ให้นำด้ายออกเหลือแต่เหรียญไว้ติดตัวเด็กเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ นานา เวลาจะผูกข้อมือเด็กให้ระลึกถึงหลวงพ่อแสน แล้วภาวนาพระคาถา “คะ พุทธ ปัน ทู ธัม วะ คะ” เด็กจะสมบูรณ์โตวันโตคืน


         เนื่องจากเหรียญรุ่นนี้ มีจำนวนการสร้างมากพอสมควร ทางวัดก็มิได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงจุดเด่นของเหรียญฯ อย่างจริงจัง เป็นเหตุให้เหรียญรุ่นนี้ เหลือตกค้างที่วัดนานมากกว่า ๒๐ ปี ผิดกับพระปรกใบมะขามที่ทางวัดบพิตรพิมุขจัดสร้างในปี ๒๕๑๖ ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี มาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วย ทำให้พระปรกใบมะขามรุ่นนั้นหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว การเหลือตก ค้างที่วัดบพิตรพิมุขก็มีผลดีเช่นกัน ทางวัดนำวัตถุมงคลและพระเครื่องที่สร้างในปี ๒๕๐๗ เข้าพิธีพุทธาภิเษก อีกหลายครั้ง อาทิ ปี ๒๕๑๕, ๒๕๑๖, ๒๕๓๖ เหรียญเกราะเพชรรุ่นนี้หมดไปจากวัดบพิตรพิมุข ราวปี ๒๕๓๘ – ๒๕๓๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น