วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ


พระบัวเข็ม หลวงพ่อเพชร จนทวํโส วัดบ้านกรับ

โดย...ชายนำ ภาววิมล...


เมื่อเอ่ยถึง "พระบัวเข็ม" เชื่อว่านักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่มีอายุพรรษาในวงการพระเครื่องไม่มากนัก คงจะมีข้อมูลเกี่ยวกับพระบัวเข็มไม่มากนัก เมื่อไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดที่ชัดแจ้ง เลยมองข้ามความโดดเด่นของพระบัวเข็มไปอย่างน่าเสียดาย การที่จะหยิบยกเรื่องราวที่คนทั่วไปไม่สนใจมาเล่าสู่กันฟัง คงจะไม่น่าพิสมัยมากนัก เพราะไม่มีใครอดทนเพียงพอที่จะมารับรู้ รับฟัง รับทราบเรื่องที่ตนเองไม่สนใจ หากจำเป็นต้องนำเสนอเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ครบถ้วนกระบวนความเกี่ยวกับพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งของ หลวงพ่อเพชร จนทวํโส เจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พระสุปฏิปันโนที่มีสิริอายุยืนยาวถึง ๙๔ ปี ก็ต้องโหมโรงออกแขกให้ท่านนักนิยมพระเครื่องรุ่นกระเตาะ รวมทั้งศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพศรัทธาในพระปฏิปทา ศีลจาริยาวัตรอันบริสุทธิ์ของยอดพระเกจิอาจารย์เมืองขุนแผนรูปนี้ ทราบประวัติความเป็นมาของ"พระบัวเข็ม"หรือที่เรียกขานกันอีกนามหนึ่งว่าพระอุปคุต ว่ามีความพิสดารลึกล้ำเพียงใด

พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ ปี ๒๕๔๐

ในพระคัมภีร์พระเวท ฉัฏฐบรรพ หน้า ๔๑ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร กล่าวถึง พระบัวเข็ม ดังนี้ เป็นพระที่นิยมสร้างกันในเมืองมอญและพม่า ทำเป็นรูปพระเถระนั่งก้มหน้า มีใบบัวคลุมศีรษะ มีเข็มตุ้มปักตามหัวไหล่ ตามเข่าหลายแห่ง ฐานรองนั่งเป็นดอกบัวค่ำดอกหนึ่ง ดอกหงายดอกหนึ่ง ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปลา ปู ปั้นนูนๆขึ้นมา เป็นพระที่ทำด้วยแก่นไม้พระศรีมหาโพธิ์ ลงรักปิดทองบางๆว่า เป็นพระสำหรับขอฝน ทำนองเดียวกับ พระสุภูติเถร ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์

ชาวมอญและพม่าเชื่อกันว่า พระอุปคุตเถระ องค์นี้ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ อยู่ในปราสาทแก้วใต้น้ำ เดินไปกลางฝนเหมือนอย่างมีร่มกั้น ฝนไม่เปียกกาย บางทีเห็นนั่งบนน้ำ ลอยขึ้นล่องแสงแดดไม่ต้องกาย มีคำเล่าลือว่า ชาวเมืองแรงกูนคนหนึ่งตักบาตรพระอุปคุตแล้วได้เป็นเศรษฐี ชาวเมืองแรงกูนจึงพากันตื่นแต่เช้าตรู่ยังไม่สว่าง คอยใส่บาตรพระอุปคุตแต่ก็ไม่มีโอกาสใส่บาตร เมื่อไม่ได้ใส่บาตร เลยคิดสร้างรูปท่านจำลองขึ้นมาไว้บูชา เพื่อความประสงค์ให้ท่านช่วยโปรดให้เป็นเศรษฐี ที่ทำเป็นรูปใบบัวคลุมอยู่บนเศียรนั้น สมมุติว่าเป็นเงาที่กันฝนและแดด รูปเหมือนใบบัว คตินิยมในเรื่องนี้ ได้ฝังใจเชื่อถือกันในหมู่ชาวพม่าและมอญสืบมาจนถึงทุกวันนี้

พ.สุวรรณ กล่าวถึง พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม ในคำนำหน้าของหนังสือ พระบัวเข็มพระอรหันต์พิชิตมารให้ลาภร่ำรวย ดังนี้ พระบัวเข็ม หรือ พระอุปคุต เป็นพระบูชาที่นิยมกันมากในกลุ่มชนชาวพม่ามอญ และคนไทยทางภาคเหนือ พระบัวเข็ม เริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทย เมื่อครั้งที่พระมอญนำพระบัวเข็มมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งขณะนั้น ยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ) ในสมัยรัชกาลที่ ๓

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ ๕) ทรงกล่าวถึงความเป็นมาและความศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนอานิสงส์ที่ได้จากการบูชาพระบัวเข็มอย่างน่าสนใจ ในหนังสือ พระราชพิธีสิงสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระองค์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี ๒๔๓๑ นับเป็นเวลา ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว

พระบัวเข็ม หรือ พระอุปคุต นับเป็นพระอรหันต์สาวกหลังพุทธกาลถึง ๒๐๐ กว่าปี มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ กล่าวคือ ตอนยังไม่บวช ช่วยพ่อแม่ค้าขายในตลาดเมืองมถุรา (อินเดีย) ปรากฏว่าประสบความสำเร็จดีมาก มีลูกค้ามาอุดหนุนมากมาย เงินทองเข้าบ้านตลอด ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มีความตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยลำดับ จนกระทั่งบรรลุพระอรหันตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน มีลูกศิษย์ลูกหาถึง ๑๘,๐๐๐ รูป เล่ากันว่าท่านชอบจำพรรษาอยู่ที่ใต้มหาสมุทร (สะดือทะเล)

ชื่อเสียง ความรู้ความสามารถของท่านแพร่สะพัดถึงพระกรรณของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์จึงเสด็จไปอาราธนาท่านให้มาคุ้มครองความเรียบร้อยงานพิธีฉลองสถูปเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ระหว่างนั้น มีพญามารมาก่อกวนในพิธี พญามารตนดังกล่าวคือ พระยาวัสวดี คู่อริเก่าของพระพุทธเจ้าเมื่อคราวจะตรัสรู้ พญามารตนนี้แหละที่จะมาแย่งชิงรัตนะบัลลังก์ จนพระองค์ต้องตรัสเรียกนางวสุนธรา  พระแม่ธรณีมาเป็นพยานโดยบีบมวยผมน้ำกรวด (ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญกุศล) ไหลออกมาเป็นทะเลหลวง ท่วมทับเสนามารทั้งหลายให้จมวอดวาย กระแสน้ำได้ซัดช้างคีรีเมขล์ให้ถอยร่นไปติดขอบจักรวาล พญามารวัสวดีตกตะลึงเป็นอัศจรรย์ จึงประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระพุทธองค์ พญามารมาก่อกวนทำลายพิธีครั้งนี้ เข้าใจว่าเมื่อไม่มีพระพุทธเจ้า (เพราะเสด็จปรินิพพานไป ๒๑๘ แล้ว) คงจะไม่มีใครขวางได้ ปรากฏว่าถูก พระอุปคุต เนรมิตสุนัขเห่า มีกลิ่นเหม็นคลุ้ง เต็มไปด้วยหมู่หนอนยัวเยียน่าขยะแขยง เอาไปผูกติดไว้ที่คอพญามาร ซึ่งแก้อย่างไรก็ไม่ออก ต้องเหาะไปหาเทพยดา พระอินทร์ ท้าวจตุโลกบาลมหาราช ตลอดจนพระพรหมก็ไม่อาจแกพันธนาการนี้ได้

ในที่สุดพญามารจึงจำใจกลับมาหาพระอุปคุต เข้าไปกราบสารภาพผิด แต่ก่อนจะแก้เอาสุนัขเน่าออกให้ พระอุปคุตเห็นว่าควรจะมัดนางพญามารไว้ก่อน โดยมัดติดกับภูเขา จนกว่างานพิธีของพระเจ้าอโศกมหาราชจะเสร็จสิ้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พญามารถึงกับรำพึงว่าตัวเรานี้ผจญกับพระพุทธเจ้ามานักต่อนัก ไม่เคยเลยที่พระพุทธเจ้าจะทำกับเราอย่างนี้ พระอุปคุตเป็นเพียงพุทธสาวกทำกับเราถึงขนาดนี้"

พระอุปคุตจึงกล่าวว่า ดูก่อนพญามาร อาตมากับท่านเป็นคู่ทรมานกัน เพราะเหตุนี้จึงไม่มีกรุณา การกระทำโทษแก่ท่านครั้งนี้ เพื่อจะยังให้ท่านมีจิตยินดีปรารถนาพุทธภูมิ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า พระอุปคุตเถระจะได้ทรมานพระยาวัสวดี ให้ละพยศหมดความอหังการ สิ้นร้ายกาจในอนาคตกาล พญามารนั้นจะปรารถนา เป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ขอท่านจงตั้งใจละจิตบาปเสีย อย่าได้กระทำบาปต่อไปอีกเลย

ด้วยเหตุนี้ คนทางเหนือและทางอีสาน ตลอดจนชาวมอญและพม่า ต่างนิยมสร้างรูปพระอุปคุตบูชากันอย่างสนิทใจ คติโบราณนั้นจนถึงปัจจุบัน หากมีงานพิธีสำคัญ ต้องกราบอาราธนาท่านพระอุปคุตออกมาตั้งบูชาขอพรไม่ให้มีอุปสรรคเกิดขึ้น หรือชีวิตท่านผู้ใดมีอุปสรรคต้องบูชาสักการะพระอุปคุต ขอพรจากท่าน ย่อมบังเกิดความราบรื่นในการดำเนินชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์
พวกสัปเหร่อเมื่อเจอผีดุ ก็ยังต้องใช้พระคาถาพระมหาอุปคุตผูกมารเพื่อมิให้ผีดุอาละวาด พระคาถานี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากตำราเก่าของครูไว้ในภาคผนวก
ดังนั้น หากท่านผู้อ่านมีโอกาสบูชาพระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม นำไปบูชาสักการะประจำบ้านหรือที่ทำงาน ย่อมเป็นนิมิตแห่งการก้าวพ้นอุปสรรค (หมายถึงอุปสรรคต่างๆหมดไป) และบังเกิดโภคทรัพย์สมบัติมั่งมีเงินทองลาภผลพูนทวี เนื่องจากพระบัวเข็มหรือพระอุปคุตเป็นพระอรหันต์แห่งโชคลาภ ดังปรากฏใน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5 ) นั่นเอง

เป็นอย่างไรบ้างครับ เกร็ดข้อมูลฉบับย่อที่เกี่ยวกับพระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม ที่ผู้เรียบเรียงคัดลอกมานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน ถ้ามีโอกาสได้อ่านฉบับแท้และดั้งเดิม เชื่อว่าผู้อ่านคงจะได้อรรถรสและสนุกกว่านี้หลายเท่า โดยเฉพาะตอนที่พระเจ้าอโศกมหาราชทดสอบความสามารถของพระอุปคุต ตอนสำคัญของเนื้อเรื่องคือตอนที่พระอุปคุตต่อสู้กับพญามาร พระยาวัสวดีมารเนรมิตหรือกระทำการใด พระอุปคุตสามารถแก้เกมและทำได้เหนือกว่าเท่าตัว เสียดายที่มีข้อจำกัดในการนำเสนอ จึงคัดลอกเฉพาะในส่วนของบทนำที่ พ.สุวรรณ ประมวลและเรียบเรียงข้อมูลตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ความเชื่อและการสร้างวัตถุมงคลในรูปของพระบัวเข็ม หรือพระอุปคุต เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างและเห็นถึงความสำคัญ คุณค่าของพระบัวเข็ม ในมิติต่างๆ

ถ้าจะกล่าวถึง"พระอุปคุต"หรือ"พระบัวเข็ม"ที่จัดสร้างขึ้นในยุคกึ่งพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ นักนิยมพระเครื่องส่วนใหญ่มักมองข้ามอานิสงค์ของพระบัวเข็ม และคุณค่าในการเก็บสะสมไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า นอกจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระอุปคุตหรือพระบัวเข็มแล้ว ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีพระเกจิอาจารย์รูปใดที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังด้านการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในรูปของพระบัวเข็มหรือพระอุปคุต จนเป็นที่ยอมรับและเล่นหากันเป็นสากล เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ พระบัวเข็มที่พบเห็นกันในยุคสมัยนี้ ส่วนใหญ่มักขาดเอกลักษณ์ที่จะทำให้นักนิยมพระเครื่องสามารถแยกแยะว่าเป็นของสำนักใดกันแน่ ถ้าจะเฟ้นหากันอย่างเอาจริงเอาจังสักหน่อย ก็พอจะหา พระอุปคุตหรือพระบัวเข็มที่มีโหงวเฮ้งดีๆ มาเล่นหากันได้เหมือนกัน



พระบัวเข็ม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ ห้วยกระเจา กาญจนบุรี
นอกจากพระอุปคุตหลวงพ่อผาง จิตฺตคุตโต วัดป่าอุดมคงคาคีรีเขตร์ และ พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ซึ่งเป็นพระเครื่องยุคกลางเก่ากลางใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งแล้ว พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส ก็เป็นพระบัวเข็มรุ่นใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน ถ้ากระแสความนิยมในการบูชาพระอุปคุตหรือพระบัวเข็มเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โอกาสที่พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส จะก้าวขึ้นมาสู่ความนิยมในระดับแนวหน้าก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ประสบการณ์แคล้วคลาดนิรันตรายซึ่งเป็นจุดเด่นของพระหลวงพ่อเพชร จนทวํโส ทุกรุ่นและศิลปะที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เกิดหนุนให้นักนิยมพระเครื่องส่วนหนึ่งต้องเหลียวมาเล่นหาพระชุดนี้กับเขาบ้าง

หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ห้วยกระเจา กาญจนบุรี

พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส เป็นพระเครื่องที่ท่านอนุญาตให้คณะศิษย์จัดสร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างวัตถุถาวรในวัดบ้านกรับ พระบัวเข็ม หลวงพ่อเพชร จนทวํโส มี ๒ รายการ คือ

๑. พระบัวเข็มเนื้อสัมฤทธิ์ 
ลักษณะเป็นพระบัวเข็มขนาดเล็กกระทัดรัด มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายอุ้มบาตร ลักษณะคล้ายพระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม 


พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ

พระบัวเข็มของทั้งสองสำนักนี้ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้



พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม สร้างปี ๒๕๒๖

พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก ขนาดใหญ่กว่าพระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เล็กน้อย ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก ถือหอยสังข์ พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อุ้มบาตร
พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก สันจมูกเอียง พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส สันจมูกตรง
พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก ตอกโค้ดอักษรขอมตัว อุปะ ที่ใต้ฐานองค์พระ พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส ตอกโค้ดอักษรขอมตัว นะ ในรูปหยดน้ำที่ด้านหลังขององค์พระ

พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ มีจำนวนการสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ มวลสารที่ใช้ในการสร้าง ประกอบด้วย 
  ๑) ชนวนพระกริ่งและพระชัยวัฒน์จันทร์ตรี หลวงพ่อเพชร จนทวํโส 
  ๒) ชนวนหล่อพระกริ่ง หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ รุ่นปี ๒๕๓๖ 
  ๓) ชนวนหล่อพระประธานหลวงพ่อเสริม วัดปทุมวนาราม 
  ๔) ผงตะไบ พระกริ่งวัดสุทัศน์ ปี ๒๕๓๖ 
  ๕) ผงตะไบพระกริ่งยอดขุนพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม 
  ๖) ชนวนพระกริ่งยอดขุนพล, พระบัวเข็ม, เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม 
  ๗) ชนวนพระกริ่งปวเรศเขาเงิน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน 
  ๘) แผ่นยันต์ หลวงปู่ดี จตฺตมโล วัดพระรูป สุพรรณบุรี, หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ, หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท วัดสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ, พระครูสมุห์อวยพร ฐิติญาโณ วัดดอนยายหอม

๒. พระบัวเข็มช่อโสฬส 
เป็นพระช่อที่หล่อด้วยกรรมวิธีแบบโบราณทั้งช่อ แต่ละช่อมีพระบัวเข็ม ๑๖ องค์ ส่วนยอดของแกนเป็นรูปดอกบัวตูม ฐานเป็นแบบก้นถ้วย ด้านหนึ่งเป็นอักษรขอม ๔ ตัว คือ นะ มะ อะ อุ อีกด้านหนึ่ง เป็นอักษรไทย คือ วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี จำนวนการสร้างทั้งสิ้น ๕๖ ช่อ


พระบัวเข็มช่อโสฬส หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ ห้วยกระเจา กาญจนบุรี

สรุป

พระบัวเข็ม หลวงพ่อเพชร จนทวํโส มีพลานุภาพโดดเด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย ลูกศิษย์หลายรายที่บูชาพระบัวเข็มรุ่นนี้แล้ว มีประสบการณ์ด้านโชคลาภแบบไม่เคยเจอมาก่อน 

ภาพหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส กับผู้เรียบเรียง หลังพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวพระบัวเข็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น