วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: พระสมเด็จพิมพ์นิยมรุ่นแรก หลังตรายางรูปเจดีย์จีน พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทนาโร วัดจุฬามณี


พระสมเด็จพิมพ์นิยมรุ่นแรกหลังตรายางรูปเจดีย์จีน พระอาจารย์อิฏฐ์ ภฺทฺทจาโร วัดจุฬามณี

โดย.......ชายนำ ภาววิมล.......

         ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นในทุกวันนี้ พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร หรือพระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (สมโภชน์ ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นอายุ ๕๐ กว่าๆ ที่อยู่ในระดับแนวหน้าของลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญเจนจบในการสร้างวัตถุมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับท้าวเวสสุวรรณแบบหาตัวจับยาก วงการพระเครื่องในทุกวันนี้ให้เครดิต/จัดลำดับท้าวเวสสุวรรณของพระอาจารย์อิฎฐ์ ภทฺทจาโร อยู่ในลำดับต้นๆ ของท้าวเวสสุวรรณที่จัดสร้างในยุคสมัยนี้ เหตุใดท้าวเวสสุวรรณของพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร ได้รับความนิยมมากถึงขนาดที่นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่มักพูดติดปากว่า“ท้าวเวสสุวรรณ ต้องพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร วัดจุฬามณี” 




ชีวประวัติโดยสังเขป 
         พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร มีนามเดิมว่า สมโภชน์ อมรรัตนบดี เป็นบุตรของนายพจน์ และนางประนอม น้อยมา ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐  ณ บ้านเลขที่ ๗๘ ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม บรรพชาเป็นสามเณร วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๐ ที่พระอุโบสถวัดจุฬามณี หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้น ศึกษาพระเวทย์วิทยาคมกับพระเกจิ อาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ หลวงพ่อพรห์ม วัดขนอนเหนือ หลวงพ่อเจือ วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ หลวงพ่อคลี่ วัดประชาโฆษิตาราม จะสรุปแบบฟันธงว่าพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสายวิทยาคมของยอดพระเกจิอาจารย์เมืองสมุทรสงครามก็คงไม่ผิด...กระมัง




         เหตุใดท้าวเวสสุวรรณของพระอาจารย์อิฎฐ์ ภทฺทจาโร ได้รับความนิยมเป็นอันมากและถูกจัดให้เป็นท้าวเวสสุวรรณระดับแนวหน้าของวงการพระใหม่ในยุคสมัยนี้ หากใครได้ติดตามผลงานด้านการจัดสร้างวัตถุมงคลของพระอาจารย์อิฎฐ์ ภทฺทจาโร มาตั้งแต่ต้น คงทราบดีว่า "พระอาจารย์อิฎฐ์ ภทฺทจาโร สร้างพระเครื่อง/วัตถุมงคลด้วยความตั้งใจ สร้างด้วยความพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะของพระเครื่อง/วัตถุมงคลแต่ละรุ่นแต่ละพิมพ์ ล้วนใช้ช่างฝีมือชั้นครูและโรงงานระดับมาตรฐาน เนื้อหามวลสารมีส่วนผสมของพระเก่า โลหะชนวน แผ่นยันต์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในส่วนของพิธีกรรม ก็เป็นไปตามแบบแผนที่มีมาแต่ครั้นโบราณกาล พระเครื่อง/วัตถุมงคลของพระอาจารย์อิฎฐ์ ภทฺทจาโร จึงมีความโดดเด่นและมีมาตรฐานการสร้างอยู่ในแถวหน้าของวงการพระใหม่ในทุกวันนี้"





         นอกจากท้าวเวสสุวรรณที่ได้รับการยอมรับ จัดอันดับให้เป็นท้าวเวสสุวรรณระดับแนวหน้าของวงการพระใหม่แล้ว ยังมีพระเครื่อง/วัตถุมงคลอีกหลายรายการที่มีคุณค่า มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าท้าวเวสสุวรรณแม้แต่น้อย อีกหนึ่งในพระเครื่องที่ทรงคุณค่าและไม่ควรมองข้าม คือ พระพิมพ์สมเด็จหลังปั๊มตรายางหมึกแดง รูปเจดีย์จีน ที่จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๓๗





           พระพิมพ์สมเด็จหลังปั๊มตรายางหมึกสีแดงรูปเจดีย์จีน เป็นพระสมเด็จที่พระอาจารย์อิฎฐ์ ภทฺทจาโร สร้างขึ้นในปี ๒๕๓๗ ทำพิธีเรื่อยมาถึงปี ๒๕๓๘ พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร เล่าให้ฟังว่า พระพิมพ์สมเด็จชุดนี้ มี ๒ เนื้อ เนื้อแรกจำนวน ๓๐,๐๐๐ องค์ เป็นพระที่เปิดให้เช่าบูชาและ/หรือแจกในปี ๒๕๓๘ เนื้อที่ ๒ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุบนหลังคาพระอุโบสถวัดจุฬามณี ด้านพิธีกรรม นำเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดระฆังโฆษิตาราม และจัดพิธีฯ ที่วัดจุฬามณี ๕ ครั้ง ๓ ครั้งเป็นพิธีใหญ่ ครั้งที่ ๔ – ๕ เป็นพิธีกลางแจ้ง สำหรับเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จหลังปั๊มตรายางหมึกสีแดง รูปเจดีย์จีน ทำพิธีปลุกเสกในปี ๒๕๓๕ เนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้าง ประกอบด้วย

     ๑)   พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ตำเป็นผงทั้งองค์  
     ๒)   เศษพระสมเด็จบางขุนพรหม ๑ บาตร
     ๓)   พระวัดเงิน คลองเตย ทุกพิมพ์ ยกเว้นพิมพ์แหวกม่าน
     ๔)   พระสมเด็จวัดเฉลิมพระเกียรติ พิมพ์ตังวา ๒๐ กว่าองค์
     ๕)   ผงพระเจ้าคุณสุนทรฯ วัดกัลยาณมิตร
     ๖)   ผงพระเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ พิมพ์หลังอุ
     ๗)   ผงพระพิมพ์สมเด็จพุทธนิมิต หลวงปู่ดู่ วัดสะแก ๑๐๐ กว่าองค์
     ๘)   ผงพระหลวงพ่อพรห์ม วัดขนอนเหนือ
     ๙)   ผงพระพิมพ์สมเด็จพระครูมูล วัดสุทัศน์เทพวราราม ๑๐๐ กว่าองค์
     ๑๐)     พระหลวงปู่ทวด วัดประสาทบุญญาวาส
     ๑๑)     พระพิมพ์สมเด็จหลวงพ่อวัดไร่ขิง
     ๑๒)     ผงพระสมเด็จวัดระฆัง รุ่น ๑๐๐ ปี, ๑๐๘ ปี, ๑๑๘ ปี อย่างละ ๑๐๐ องค์
     ๑๓)     พระสมเด็จแช่น้ำมนต์ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
     ๑๔)     ผงพระวัดปากน้ำ รุ่น ๑ – ๓

   เนื้อหามวลสารที่พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร นำมาใช้ในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จหลังปั๊มตรายางหมึกสีแดงรูปเจดีย์ แต่ละรายการล้วนเป็นสุดยอดของพระเนื้อผงที่วงการพระเครื่องให้การยอมรับและนิยมเล่นหามาช้านาน แค่ผงที่นำมาใช้ในการจัดสร้าง ไม่ต้องทำพิธีกรรมก็ขลังแล้ว สูตรผสมเนื้อที่ทำตามแบบอย่างที่สืบทอดมาแต่ครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรฺงสี) การนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดระฆังโฆษิตาราม และจัดพิธีที่วัดจุฬามณี  ๕ ครั้ง เป็นหลักประกันที่ทำให้เชื่อมั่นเต็มร้อยว่าพระพิมพ์สมเด็จพิมพ์นี้เป็นพระพิมพ์สมเด็จประเภทพระเกจิอาจารย์ยุคใหม่ที่ไม่เป็นสองรองใคร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น