วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: พระปิดตาห้าเหลี่ยม หลวงพ่อม่วง นาคเสโน วัดยางงาม


พระปิดตาห้าเหลี่ยม หลวงพ่อม่วง นาคเสโน วัดยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

โดย...ชายนำ ภาววิมล...

        พระครูสุนทรจริยาวัตร(ม่วง นาคะเสโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดยางงาม ต. ยางงาม อ. ปากท่อ จ. ราชบุรี เป็นพระสุปฏิปันโนแถบลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่างที่พุทธศาสนิกชนในเขตอำเภอปากท่อ, อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี, และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ให้ความเคารพนับถือมากที่สุดอีกรูปหนึ่ง ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านโดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระครูสุนทรธรรมกิจ (หยอด ชินวํโส) วัดแก้วเจริญ ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน มีนามเดิมว่า“ม่วง พุ่มโรจน์” เป็นบุตรของนายบาง และนางเป้า พุ่มโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๙ ที่บ้านเลขที่ ๒๐ หมู่ ๖ ต. ปากท่อ อ. ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่ออายุครบบวช อุปสมบทที่พระอุโบสถวัดปากท่อ โดยมีพระราชอินทเขมาจารย์ (ห้อง พุทธสโร) วัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเทียน วัดป่าไก่ เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระราชธรรมเสนานี (ศุข สุภทฺโท) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้นามฉายาว่า “นาคะเสโน” เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาทางด้านธรรมศึกษาจากสำนักเรียนวัดปากท่อ จนสอบไล่ได้ชั้นนักธรรมโทในปี ๒๔๗๘ จากนั้น ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดยางงาม และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัดยางงามเรื่อยมาถึงปี ๒๕๐๑ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดยางงาม ปี ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโท และละสังขารในวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ สิริอายุ ๙๘ ปี

      หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน เป็นพระแท้ที่เพียบพร้อมด้วยเมตตาธรรมและศีลาจริยาวัตรที่งดงามยิ่ง ตลอดอายุขัยของท่าน หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน มุ่งมั่นทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้กับพระบวรพุทธศาสนาโดยไม่เบียด เบียนหรือสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย วัดยางงามที่ตั้งเด่นตระหง่านและสง่างามในยุคสมัยของท่าน เป็นเพราะแรงศรัทธาจากสาธุชนและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายทั้งปวงที่ตระหนักและซาบซึ้งในกุศลเจตนาของหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน ที่นำที่ดินมรดกของท่านมาขายเพื่อพัฒนาและซ่อมแซมถาวรวัตถุของวัดยางงามให้เจริญรุ่งเรือง ใช้ประโยชน์ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาได้อย่างเต็มที่  ด้านการเผยแพร่พระธรรมคำสอนฯ หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน มีเจตนาแน่วแน่ในการอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา และชาวบ้านทั่วไปไม่ว่าจะเป็นไทยหรือกระเหรี่ยงให้ปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน จักอบรมสั่งสอนพ่อนาคก่อนเข้าพิธีอุปสมบทครั้งละ ๒ – ๓ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เมื่อพระภิกษุใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกในขอบขัณฑสีมาของวัดยางงามแล้ว ท่านจะเข้มงวดกวดขันให้พระภิกษุเหล่านั้นอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เมื่อถึงเวลาที่ลาสิกขาบท ท่านจักอบรมสั่งสอนและให้ข้อคิดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการครองเพศฆราวาสด้วยความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

      โดยปกติแล้ว หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน เป็นพระแท้ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก ชอบพูดคุยเรื่องธรรมและจิตวิญญาณ หากพูดถึงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านจักหลีกเลี่ยงการสนทนาในเรื่องที่ไม่ใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา เคยมีคนเล่าว่าบางครั้งถึงกับลุกเดินหนีไป จริงเท็จประการใดไม่อาจยืนยันได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านไม่ค่อยอนุญาตให้ลูกศิษย์ลูกหาสร้างพระเครื่องหรือวัตถุมงคลใดๆ มากนัก การสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ จะกระทำเฉพาะในโอกาสสำคัญๆ หรือวาระอันควรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมักคุ้นของนักนิยมพระเครื่องมากนัก จวบจนถึงบั้นปลายชีวิตของท่าน มีการผ่อนปรนและอนุญาตให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ มากขึ้น

    พระปิดตาห้าเหลี่ยม หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน เป็นพระปิดตารุ่นแรกที่คณะบุคคลที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาและศีลาจริยาวัตรของหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน ดำเนินการสร้างถวายในปี ๒๕๓๔ ความมีอยู่ว่า โสภณ ศรีรุ่งเรือง พื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอปากท่อ และคณะฯ ประกอบด้วย สุธน ศรีหิรัญ, วิฑูรย์ เชาว์วิริยะเทพ, ผู้เรียบเรียงเดินทางไปเที่ยววัดไหว้พระในแถบรอยต่อจังหวัดสมุทรสงครามกับราชบุรีโดยมิได้มีการกำหนดเป้าหมายล่วง หน้าว่าจะไปไหนบ้าง ไปเรื่อยๆ เจออาหารพื้นเมืองแบบเรียบง่าย เป็นต้องจอดรถข้าง แวะลิ้มชิมรสตามประสาคนชอบของแปลกของพื้นเมือง ผ่านวัดยางงามเลยแวะขึ้นไปกราบนมัสการหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน ตามคำแนะนำของโสภณ ศรีรุ่งเรือง หลังจากกราบนมัสการและสนทนาพูดคุยกับท่านสักพักหนึ่ง ทุกคนในคณะฯ ต่างศรัทธาและเลื่อมใสในปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน สุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงสบตากันเหมือนเป็นสัญญาณว่าให้สร้างพระถวายหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน สักรุ่นหนึ่ง โดยไม่ได้กะเกณฑ์ว่าทำไปเพื่อประโยชน์อันใด จัดสร้างเพราะอยากทำ เมื่อถวายแล้วหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน จะไปใช้ประโยชน์ก็สุดแล้วแต่ท่าน คณะผู้สร้างมิเคยเข้าไปก้าวก่ายหรือชี้นำใดๆ ทั้งสิ้น มากที่สุดก็มีเพียงการนำข้อมูลมาเผยแพร่ในนิตยสารพระเครื่องหลายฉบับตามประสานักเขียนที่ต้องขีดเขียนและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวพระเครื่องเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว


          ลักษณะ

         เป็นพระปิดตาแบบสมาธิเพชรในกรอบพิมพ์ห้าเหลี่ยมสองชั้น องค์พระอ้วนท้วมสมบูรณ์ พระนาภีหรือสะดือกลมบุ๋มลึกลงไปในองค์พระ นิ้วมือชัดเจน บริเวณด้านใต้ของข้อเท้าที่ขัดเป็นสมาธิเพชรเป็นบัวสามกลีบ วรรณะสีผิวออกขาวอมเหลือง มีจุดสีเขียวอันเนื่องมาจากสนิมของผงตะไบขึ้นประปราย ด้านหลังประทับด้วยยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีพระพุทธรูปขนาดเล็กมากอยู่ตรงกึ่งกลางของยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ขนาดองค์พระกว้าง ๑.๖ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร และหนาประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร จำนวนการสร้างประมาณ ๑๐,๐๐๐ องค์ 
 

          มวลสารที่ใช้ในการสร้าง ประกอบด้วย

             ๑) ผงกระเบื้ององค์พระปฐมเจดีย์ 
             ๒) ผงกระเบื้ององค์พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช 
             ๓) ผงตะไคร่องค์พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช 
             ๔) ผงตะไบพระกริ่งดำรงราชานุภาพ 
             ๕) ผงตะไบพระกริ่งยอดขุนพล พระบัวเข็ม และเหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม 
             ๖) พลอยเสกหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม 
             ๗) นิลเสกในพิธีพระกริ่งดำรงราชานุภาพ 
             ๘) ผงพุทธคุณหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ/หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม 
             ๙) ผงพุทธคุณหลวงพ่อพรห์ม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ 
             ๑๐) ผงงาช้างเสกหลวงพ่อพรห์ม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ 
             ๑๑) ผงชินปัญชร หลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญเถระ วัดดวงแข 
             ๑๒) ผงพุทธคุณหลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรี 
             ๑๓) ผงพุทธคุณหลวงพ่อมุ่ย จนฺทสุวณฺโณ วัดป่าระกำเหนือ 
             ๑๔) ผงพระรูปเหมือนหลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ฯ รุ่น ๖ รอบ 
             ๑๕) ผงนอโมเข้าห้อง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน 
             ๑๖) ผงไม้คณฑีดำ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน 
             ๑๗) ผงพุทธคุณทั้งห้า หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ/หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว 
             ๑๘) ผงว่านยา ๑๐๘ หลวงพ่อวงศ์ วํสปาโล วัดปริวาส 
             ๑๙) ผงพระผงสุพรรณ รุ่นที่ระลึก ๔๐๐ ปียุทธหัตถีพระนเรศวร 
         ๒๐) ผงพระหักพระชำรุดต่างๆ อาทิ พระยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ, พระเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์, ผงพระวัดปากน้ำ รุ่น ๔ 
        มวลสารทั้งหมดนี้ นำเข้าพิธีพุทธาภิเษก ๓ ครั้ง คือ พิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งดำรงราชานุภาพ ที่วัดบวรนิเวศ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ พิธีพุทธาภิเษกและเททองหล่อพระประธานฯ วัดถ้ำเขาเงิน วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓ และพิธีพุทธาภิเษกที่วัดใหม่สิริกมลาวาส โดยพระเกจิอาจารย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถร เป็นเวลา ๓ วัน
        

        ด้านพิธีกรรม 

        คณะผู้สร้างถวายนำพระปิดตาทั้งหมดเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานในพิธีฯ จากนั้นนำไปถวายหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง เท่าที่ทราบ หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน นำพระปิดตาห้าเหลี่ยมรุ่นนี้ ออกมาแจกให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์เพื่อเป็นที่ระลึกในงานทอดกฐินสามัคคีวัดยางงามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔
          
        พระปิดตาห้าเหลี่ยมหลวงพ่อม่วง นาคะเสโน เป็นพระปิดตารุ่นแรกที่สุธน ศรีหิรัญ และคณะสร้างถวายโดยมิได้มีข้อกำหนดหรือกะเกณฑ์ให้หลวงพ่อม่วง นาคะเสโน นำไปใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง เป็นการสร้างถวายเพราะความเลื่อมใสศรัทธา มีส่วนผสมของมวลสารต่างๆ มากมาย ทั้งนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ปัจจุบัน พระปิดตาห้าเหลี่ยมรุ่นนี้มีอายุการสร้างล่วงเลยมาถึง ๒๕ ปี จัดว่าเป็นพระปิดตาเนื้อผงในช่วงทศวรรษที่ ๒๕๓๑ – ๒๕๔๐ ที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น