พระสมเด็จปรกโพธิ์ชินบัญชร
หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม นครปฐม
โดย.......ชายนำ
ภาววิมล.......
วัดดอนยายหอม ต.ดอนยายหอม อ.เมือง
จ.นครปฐม เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของวงการพระเครื่องที่มียอดพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสายพุทธาคมสำนักวัดดอนยายหอมอย่างต่อเนื่อง
เริ่มต้นจากพระวินัยธรฮวบ พรหฺมสร เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดดอนยายหอม ที่หลวงพ่อทรัพย์
วัดงิ้วราย อ.นครชัยศรี ชักชวนชาวบ้านไปนิมนต์ท่านมาจากวัดสุวรรณาราม(วัดทอง)
เมื่อปี ๒๔๐๐ เล่าสืบต่อกันมาว่าหลวงพ่อฮวบ พรหฺมสร ท่านเป็นสหธรรมิกกับพระเทพสิทธิเทพาธิบดี (ทับ อินทโชติ) วัดสุวรรณาราม(วัดทอง)
ปรมาจารย์ผู้สร้างพระปิดตามหาอุตม์ยันต์ยุ่งวัดทองอันลือชื่อ เรื่อยมาถึงพระราชธรรมาภรณ์(เงิน จนฺทสุวณโณ), พระครูเกษมธรรมานันท์(แช่ม ฐานุสฺสโก) พระปฐมวราจารย์(อวยพร ฐิติญาโณ) และพระหนุ่มสองรูปที่พระปฐมวราจารย์ (อวยพร
ฐิติญาโณ) เข้มงวดและฝึกหัดให้เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสายพุทธาคมวัดดอนยายหอมต่อไปในวันข้างหน้า
การสร้างพระเกจิอาจารย์รุ่นใหม่ที่ว่านี้ ดำเนินไปตามครรลองที่หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วางไว้ ลักษณะการสืบทอดสายพุทธาคมของสำนักวัดดอนยายหอม เป็นไปตามลักษณะที่ทนายแจ็ค พันตำลึงทอง สายตรงวัดดอนยายหอม ใช้คำว่า ญาติกาวัดดอนยายหอม คือเป็นสายพุทธาคมที่ส่งต่อกันในกลุ่มเครือญาติ พูดง่ายๆ หลวงพ่อฮวบ พรหมสร, หลวงพ่อเงิน
จนฺทสวณโณ, หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก, หลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโณ รวมตลอดทั้งพระมหาสุดใจ
และพระโอ๋ ศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโณ ล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น
นอกจากความต่อเนื่องทางสายพุทธาคมที่สืบทอดทางสายโลหิตแล้ว
พุทธศิลป์ที่แสดงออกในรูปแบบของพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นแบบอย่างที่พระเกจิ อาจารย์ยุคสมัยนี้นำไปใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างเหรียญรูปเหมือนของตน โดยมิได้ให้เครดิตกับเหรียญต้นแบบที่วงการพระเครื่องในอดีตยกย่องว่าเป็นเหรียญรูปเหมือนที่มีความงดงามมากที่สุด เหรียญนั้นคือ เหรียญเสมาหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ รุ่นแรก นอกจากนี้
ยังมีพระเครื่องอีกหลายๆ พิมพ์ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสำนักวัดดอนยายหอม อาทิ
พระสิบทัศน์ เหรียญหน้าวัว พระสมเด็จปรกโพธิ์ ปี ๒๕๑๒ ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว
สำนักวัดดอนยายหอม น่าจะเป็นวัดที่มีการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ มากที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งที่วัดดำเนินการจัดสร้างเอง ศิษย์สร้างถวาย และวัดอื่นขออนุญาตสร้างเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนบูรณะซ่อมแซมถาวรวัตถุหรือประกอบกิจทางศาสนาของวัดนั้นๆ
บรรดาพระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในนามวัดดอนยายหอม
มีทั้งพระหลักที่วงการพระเครื่องยอมรับและนิยมเล่นหากันเป็นสากล สนนราคาเช่าหาเป็นหลักหมื่น พระประเภทลูกย่อยที่วงการพระเครื่องรับรู้ว่ามีอยู่จริงแต่การเล่นหายังอยู่ในวงแคบอีกเป็นจำนวนมาก
มากจนไม่มีใครสามารถศึกษาและตามเก็บได้ครบ แต่ก็เป็นโอกาสดีที่นักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่
สามารถเก็บสะสมพระเครื่องสายนี้ได้ด้วยความสบายใจ หากทำใจได้และไม่นำเรื่องพระเครื่องหลายรุ่นที่มีการทำเสริมหลายครั้งมาเป็นอุปสรรคในการเล่นหา การเล่นหาพระลูกย่อยต้องเล่นหาพระที่มีความเป็นมาในการจัดสร้างที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบจากพยานวัตถุหรือพยานเอกสารที่มีการเผยแพร่ในอดีต
ไม่ใช่เล่นหาเพราะเชื่อตามนิยายปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันโดยไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ แล้วจะพบว่ามีทางเลือกในการเล่นหาพระสายนี้ อีกเป็นจำนวนมาก
พระสมเด็จปรกโพธิ์ชินบัญชร หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก
"พระสมเด็จปรกโพธิ์ชินบัญชร"เป็นพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงในยุคปลายของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก
ที่ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งสร้างถวายในปี ๒๕๓๕
ลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ขนาดเล็กที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะพระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์วัดเขาตะเครา
จังหวัดเพชรบุรี ปรับแต่งให้มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองโดยการย่อขนาดให้เล็กลงประมาณ ๒ ใน
๓ ทั้งปรับเปลี่ยนองค์พระจากต้นแบบที่เป็นปางสะดุ้งกลับให้เป็นพิมพ์สมาธิ
ที่กึ่งกลางใต้ฐานขององค์พระจารึกตัวอักษรขอม “ชะ” นัยคือ เป็นอักษรตัวแรกของพระคาถาชินบัญชร เป็นอักษรตัวแรกในชื่อของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก
และอักษรตัวแรกในชื่อของลูกศิษย์คนสำคัญซึ่งเป็นหลักในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์รุ่นนี้
ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะทรหดตามแบบยันต์หลังเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อเงิน
จนฺทสุวณโณ และเพิ่ม “นะคุ้ม” บริเวณส่วนบนของยันต์นะทรหด อีก ๒ ตัว
นะคุ้มนี้ ย่อมาจากยันต์ที่ประทับบนด้านหน้าของพระปิดตามหาอุตม์ยันต์ยุ่งเนื้อแร่
ซึ่งเป็นพระปิดตาที่วงการพระเครื่องให้การยอมรับและเล่นหากันเป็นสากล
ด้านเนื้อหามวลสาร
พระสมเด็จปรกโพธิ์ชินบัญชร เป็นพระเนื้อผงประเภทพระลูกย่อยของหลวงพ่อแช่ม
ฐานุสฺสโก ที่มีมวลสารต่างๆ ผสมมากมาย อาทิ
ผงที่เหลือจากการสร้างพระปิดตาผงคลุกรัก (พระปิดตากิมจ้อ พิธีพระกริ่งยอดขุนพล) ปี
๒๕๒๖, ผงที่เหลือจากการสร้างพระพิมพ์สมเด็จ พระสังกัจจายน์ พระผงรูปเหมือน ปี
๒๕๓๒, ผงตะไบพระกริ่งยอดขุนพล พระบัวเข็ม เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก,
กระเบื้ององค์พระปฐมเจดีย์, กระเบื้ององค์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช,
ผงพระหลวงพ่อเกษม เขมโก รุ่น ๖ รอบ, ผงพระสมเด็จอุณาโลม/พระสมเด็จนางพญา สก.,
ผงนอโมเข้าห้อง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร, ผงงาช้างเสก
หลวงพ่อพรห์ม ติสสฺเวโว วัดขนอนเหนือ พระนครศรีอยุธยา, ผงว่านยาหลวงพ่อดำ
วัดมุจลินทน์ฯ ปัตตานี นอกจากมวลสารดังกล่าวแล้ว พระส่วนหนึ่ง
มีการนำเส้นเกศาหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก มาฝังด้านหลังองค์พระด้วย
นอกจากพระสมเด็จปรกโพธิ์ชินปัญชรเนื้อผงแล้ว ยังมีเนื้อโลหะอีก ๒ เนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อชนวนเหรียญหล่อ ๗๙
พระสมเด็จปรกโพธิ์ชินปัญชร เนื้อชนวนเหรียญหล่อ ๗๙ จำนวนสร้าง ๒๐๐ องค์
พระสมเด็จปรกโพธิ์ชินปัญชร เนื้อเงิน จำนวนสร้าง ๑๐ องค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น