วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ิbuddhasilapa: พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ


พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ

โดย...ชายนำ ภาววิมล...


พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ด้านหน้า

พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ด้านหลัง

พระครูจันทสโรภาส(เพชร จนฺทวํโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เป็นพระสุปฏิปันโนร่วมสมัยอีกรูปหนึ่งที่มีศีลาจาริยาวัตรงดงาม เป็นพระบริสุทธิ์ที่ไม่ยึดติดในโลกธรรมแปด สมถะรักสันโดษ เปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม ใครขอให้ท่านทำอะไร หากไม่เกินวิสัยท่านจะสนองตอบศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนทั่วไปโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้ว่า หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นพระอาวุโสที่มีสิริอายุ ๙๐ กว่าปีในช่วงที่ท่านมีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นในแวดวงพระเกจิอาจารย์เมืองกาญจน์ (ช่วงหลังปี ๒๕๔๐) แต่ท่านก็มีร่างกายที่แข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่ว เหนือสิ่งอื่นใด ท่านมีจิตใจเข้มแข็งสมชื่อ ทำอะไรทำจริง ต้องทำให้ถึงที่สุด สู้ไม่ถอย ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดคือเมื่อครั้งที่ท่านรับนิมนต์ให้ไปร่วมงานอธิษฐานจิตแผ่เมตตาในพิธีชัยมังคลาภิเษกพระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ ๕ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑ หลังจากเสร็จพิธีฯ แล้ว เจ้าภาพขอให้ท่านกับพระเกจิอาจารย์อีก ๒-๓  รูป แจกพระพิมพ์สมเด็จสีหราชของคณะรัฐศาสตร์ให้กับบรรดาศิษย์เก่าและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมในพิธีฯ


ในพิธีชัยมังคลาภิเษกที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้ว่าผู้ที่เข้ามารับแจกพระพิมพ์สมเด็จสีหราชและพระเครื่องอื่นๆ ที่ท่านนำติดตัวมาด้วย รวมทั้งผู้ที่ขอให้ท่านเป่ากระหม่อมให้ จักมีจำนวนมากเพียงใดคะเนว่าไม่น่าจะน้อยกว่าห้าถึงหกร้อยคนขึ้นไป ท่านก็เมตตาโปรดญาติโยมทุกคนที่รุมล้อมเข้ามาหาท่านอย่างทั่วถึง ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายที่มาร่วมงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทั้งๆที่ก่อนมา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโสป่วยเป็นไข้และยังไม่หายดี ในขณะที่พระเกจิอาจารย์รูปอื่นๆ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าท่านไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ต่างก็ทยอยกันกลับไปก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณธรรมและความเข้มแข็งของ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พระสุปฏิปันโนผู้มีอายุกาลล่วงเลยมาถึง ๘๙ ปี (ในขณะนั้น)
หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส มีชื่อเดิมว่า หร่อง ฤกษ์งาม เป็นบุตรของ นายเทียน และนางทองพูน ฤกษ์งาม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี สมัยที่ท่านเป็นเด็กอยู่ ท่านเคยไปพักอาศัยอยู่กับพระทิม ที่วัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี เป็นเวลานาน ๑ ปี หลังจากนั้น กลับมาอยู่ที่เขาย้อยอีกครั้ง แต่เนื่องจากท่านป่วยเป็นคุทราตที่ข้อเท้า จึงไปอาศัยอยู่ที่วัดบ้านครู เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่พระอุโบสถ วัดหิรัญศรัทธาราม (หนองส้ม) ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมี พระครูอ่อน เจ้าคณะแขวงเขาย้อย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จันเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ขาว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่าจนฺทวํโส จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์บางเค็มใต้ เรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๑๗ ท่านเดินทางมาเยี่ยมญาติที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี พระครูอินทสารโสภณ (เสริม) อดีตเจ้าอาวาสวัดรางหวายและเจ้าคณะอำเภอพนมทวน ชักชวนให้ พระภิกษุหร่อง จนฺทวํโส จำพรรษาอยู่ที่วัดรางหวาย ระยะแรกชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่าหลวงพ่อมาจากเมืองเพชร พระครูอินทสารโสภณจึงเปลี่ยนชื่อท่านเป็น"หลวงพ่อเพชร" ในเวลาต่อมา ในปี ๒๕๑๘ เตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับว่างลง ท่านจึงได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะอำเภอพนมทวน ให้มาปกครองดูแลวัดบ้านกรับต่อไป
ด้านการศึกษาพุทธาคม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เล่าให้ฟังว่า ท่านมีความสนิทชิดเชื้อกับหลวงพ่อแก้ว ติสฺสโส วัดหัวนา จ.เพชรบุรี ตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อแก้ว ติสฺสโส นี่เองที่สอนท่านว่า การทำอะไรต้องตั้งจิตให้มั่น เหมือนดั่งสิงโตน้ำตาลทรายที่มีความหวานทั้งตัว" ส่วนหลวงพ่อแดง ญาณวิลาศ วัดเขาบันไดอิฐ ท่านฝากตัวเป็นศิษย์หลังจากที่บวชได้หลายพรรษาต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ครั้งที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามหัวเมืองชายทะเลของไทย หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส มีโอกาสพบและศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อเปลี่ยน อินทโชโต วัดใต้ไชยชุมพล ที่วัดโพธิ์บางเค็ม นอกจากพระเกจิอาจารย์ทั้งสามรูปที่กล่าวนามมาแล้ว ท่านยังได้ศึกษาสมถะกรรมฐาน/วิปัสสนากรรมฐานจากพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูป ดังนั้น จึงไม่่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดพระเครื่องที่ผ่านการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาจากท่านจึงทรงพลานุภาพและประสบการณ์ทางแคล้วคลาดนิรันตรายโดดเด่นมาก โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ลูกศิษย์จำนวนมากที่รอดชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งๆ ที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่างนี้ ไม่รอดแน่” ที่น่าแปลกอีกประการหนึ่งคือ เหตุใดพระครูวิมลสิทธิชัย(นำ สุนิมมโล) เจ้าอาวาสวัดเลาเต่า จ.นครปฐม ศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมหลวงพ่อแช่ม อินทโชโต วัดตาก้อง จึงนำวัตถุมงคลของท่านไปขอความเมตตาจาก หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ช่วยอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอดพรรษา ทั้งๆ ที่พระอาจารย์นำ สุนิมมโลเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์เมืองนครปฐมยุคปัจจุบันอีกรูปหนึ่ง
เรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พระถวัลย์ ปณฑิโต หรือ หลวงพี่ใหญ่ พระเลขาของ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เคยแนะนำให้ผู้เรียบเรียงพูดคุยกับพระลูกวัดรูปหนึ่งที่พระอุโบสถวัดบ้านกรับเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ ผู้เรียบเรียงต้องขออภัยที่จำชื่อพระรูปนี้ไม่ได้ เพราะมัวแต่สนใจเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต้องทำในขณะนั้น จึงไม่ได้จดบันทึกไว้ พระรูปนี้เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่นที่คึกคะนองมาก วันหนึ่งได้ร่วมขบวนขันหมากไปสู่ขอสาวหมู่บ้านข้างเคียง ขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ กลุ่มวัยรุ่นจากหมู่บ้านกรับก็ได้เกิดเขม่นกับหนุ่มเจ้าถิ่น ยกพวกตะลุมบอนกันจนวุ่นวายไปหมด สาเหตุก็เหมือนกับเหตุการณ์ปกติของชายหนุ่มทั่วไป มีอะไรมากไปกว่าการเกี้ยวพาราสีสาวงามจนเป็นที่หมั่นไส้ในอารมณ์ของนักเลงเจ้าถิ่น หนุ่มบ้านกรับคนหนึ่งล้มลง ฉับพลันนั้นเอง ก็ถูกคู่กรณีนั่งคร่อมแล้วใช้มีดแทงแบบไม่ยั้งมือ คนที่อยู่ในงานต่างก็คิดว่า หนุ่มต่างถิ่นต้องมาจบชีวิตที่นี่อย่างแน่นอน แต่...ปรากฏว่าคู่วิวาทกลับแทงเฉียดไปเฉียดมา ไม่ถูกตัวหนุ่มผู้เคราะห์ร้ายคนนี้เลย พอแขกที่มาร่วมงานได้สติ จึงได้แยกทั้งคู่ออกจากกัน เมื่อทุกอย่างยุติลง จึงรู้ว่า ในคอของหนุ่มชาวบ้านกรับ มีเหรียญพระอธิการหร่อง จนฺทวํโส รุ่นแรกเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น
อีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อปี ๒๕๓๖ นายอรรณพ หอมทวนลม อยู่บ้านเลขที่ ๑๑๙ หมู่ ๑ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ไปเรียนโรงเรียนช่างกลในกรุงเทพมหานคร อาศัยอยู่แถวตรอกจันทร์สะพาน ๒ ถูกนักเรียนโรงเรียนคู่อริฟันด้วยมีดแต่ไม่เข้า ในคอมีเหรียญหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เพียงเหรียญเดียว และที่อดกล่าวถึงไม่ได้ คือ นายเอกพงษ์ ศรีวงษ์ หลานชายของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ที่ปรนนิบัติรับใช้ท่านอยู่เป็นประจำได้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ไปหาหมอที่โรงพยาบาลอู่ทองปรากฏว่าหมอฉีดยาไม่เข้า ในคอมีเหรียญอาร์มเล็กเนื้อเงินเพียงเหรียญเดียวเช่นกัน
ในด้านประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติภัยบนท้องถนน เป็นเรื่องที่เล่าลือกันมากในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนที่เลื่อมใสศรัทธาในเมตตาบารมีของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส แม้แต่พระพิฆเนศเนื้อผงและตะกรุดนะเพชรกรับรุ่นแรกแช่น้ำมนต์ ซึ่งเป็นของใหม่ที่เพิ่งจัดสร้างขึ้นในขณะนั้น ก็มีประสบการณ์ทางด้านนี้เช่นกัน

ด้านการพัฒนา นับแต่วันแรกที่ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับเมื่อปี ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ท่านเริ่มพัฒนา บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบ้านกรับให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ผลงานที่เห็นได้ชัดเจนคือพระอุโบสถหลังใหม่ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. และตราสัญลักษณ์ 50 ปีแห่การครองราชย์ฯ ขึ้นมาประดิษฐานที่ซุ้มหน้าบันพระอุโบสถ งานพัฒนาชิ้นล่าสุดที่ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เพิ่งทำเสร็จไปเมื่อปี ๒๕๔๐ คือกำแพงแก้ว ในปี ๒๕๔๒ ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเมรุหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนเมรุหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปเนื่องจากใช้งานมานาน เมรุเผาศพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวิถีชีวิตของชาวชนบท หากวัดใดไม่มีเมรุเผาศพ ชาวบ้านย่านนั้นมักเดือดร้อน หรืออย่างน้อยที่สุด ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร โอกาสที่จะนำศพไปบำเพ็ญกุศลหรือไปเผาในวัดที่ห่างไกลออกไป เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วนหนึ่งมาจากความยากจน ปัญหาหลักคือเรื่องการเดินทางไปมา ไม่สะดวกเหมือนกับคนในกรุงเทพมหานคร การสร้างเมรุเผาศพในชุมชนท้องถิ่นห่างไกลความเจริญจึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง

การทอดกฐินสามัคคีของวัดบ้านกรับในปี ๒๕๔๑ นี้ จึงมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ต้องการหาปัจจัยสมทบทุนสร้างเมรุฯตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส และลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าน่าจะตั้งบุญนิธิเพื่อการศึกษาในนามของ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ไว้ที่โรงเรียนวัดบ้านกรับ การตั้งบุญนิธิเพื่อการศึกษานี้ มีจุดมุ่งหมายหลักในการนำดอกผลที่ได้รับในแต่ละปีมาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่ยากจน เมื่อหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ทราบรายละเอียดแล้ว ท่านให้ความเห็นชอบกับแนวคิดนี้ คณะศิษย์กลุ่มนั้นจึงได้ไปหารือกับ คุณฑีฆายุ คงอ่อน บรรณาธิการบริหารนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ หลังจากทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนแล้ว ทางนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์จึงได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดทอดกฐินสามัคคีครั้งนี้

พระปิดตาปางซ่อนหา เป็นพระปิดตาประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่วัดบ้านกรับจัดสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างเมรูดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว พระปิดตารุ่นนี้จัดเป็นพระปิดตาในลำดับที่สี่ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส รุ่นแรกคือพระปิดตาแร่บ่อไผ่ ที่นิตยสารพระเครื่อง ร่มโพธิ์ เคยนำเสนอไปแล้ว ถัดมาคือ พระปิดตาพิมพ์กบ เนื้อทองผสม, พระปิดตาเพชรกลับพิมพ์จัมโบ้ และพระปิดตาปางซ่อนหา หลังยันต์นะเพชรกลับ ตามลำดับ
พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ด้านหน้า

พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ด้านหลัง

ลักษณะ 

เป็นพระปิดตาขนาดเล็กกะทัดรัดกรอบพิมพ์แบบกลีบบัวฐานตัดตรง บางคนเรียกพระปิดตารุ่นนี้ว่าพระปิดตาหัวจรวด ด้านหน้าเป็นพระปิดตาแบบนั่งสมาธิเพชร ประทับนั่งบนฐานบัวห้ากลีบ ศิลปะเป็นแบบกึ่งนูนต่ำ เส้นขอบเป็นแบบหวายผ่าซีก องค์พระกลมป้อม เศียรเป็นแบบเม็ดพระศกสองแถว พระนาภี (สะดือ) เป็นเม็ดกลมคล้อยต่ำลงมาใกล้กับฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ด้านบนองค์พระปิดตาเป็นรูปพระปางมารวิชัยแบบสะดุ้งกลับ ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะเพชรกลับ ได้ยันต์จารึกชื่อ วัดบ้านกรับ และเลข ๔๑ ซึ่งหมายถึงปีที่สร้างพระปิดตารุ่นนี้

ขนาด 

ฐานกว้างประมาณ ๑.๑ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๗ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๓ เซนติเมตร

เนื้อหามวลสาร 

เป็นพระปิดตาเนื้อผงที่สร้างขึ้นจากปูนเปลือกหอยผสมกับผงขมิ้นเสก มวลสารหลักที่เป็นส่วนผสมในการสร้าง ประกอบด้วย
  ๑.  ผงขมิ้นกับปูนที่เหลือจากการร้างพระพิฆเนศ พระสมเด็จพิมพ์เกศทะลุซุ้ม พระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดจิ๋ว หลังยันต์นะกลับเพชร ของหลวงพ่อเพชร
  ๒.    ผงพระสมเด็จสีหราช คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  ๓.     ผงกระเบื้องหลังคาโบสถ์มหาอุด (หลังเก่า) ของวัดบ้านกรับ
  ๔.     ผงพุทธคุณของหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม และผงวิเศษของพระสุปฏิปันโนอื่นๆ อีกหลายรูป

วรรณะ 

พระส่วนใหญ่ผิวจะมันเล็กน้อยและออกสีส้ม มีมวลสารต่างๆ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งสีขาว ดำ แดง

จำนวนการสร้าง 

ประมาณ ๕,๗๐๐ องค์

พิธีกรรรม 
หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เริ่มทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวที่กุฏิของท่านตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ จากนั้นนำเข้าพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวที่พระอุโบสถหลังเก่าซึ่งเป็นโบสถ์มหาอุด ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ตรงกับวันศุกร์แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล จุลศักราช ๑๓๖๐ เวลา ๑๔.๓๙ น. หลังจากหลวงพ่อจุดเทียนชัยแล้ว พระสงฆ์ ๔ รูป เจริญพระพุทธมนต์บทธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร พระคาถาพาหุงตลอดเวลาที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส  อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว รวม ๙ จบ ตามด้วยพระคาถามงคลจักรวาล เป็นอันเสร็จพิธีฯ


พิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวที่พระอุโบสถมหาอุดหลังเก่า

พลานุภาพ 

พิเคราะห์จากเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้าง การวางรูปยันต์ พิธีกรรมในการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว การกำหนดอารมณ์ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ประกอบกับฤกษ์ยามที่ใช้ในการทำพิธีซึ่งวางลัคนาสถิตราศีพิจิก (ธาตุน้ำ) เสวยราชาฤกษ์ เหมาะสำหรับทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวัตถุมงคล โบราณว่าวิเศษดียิ่งนัก ทำให้มีความสว่างไสว สงบสันติ นำไปสู่ความมีเสน่ห์ เป็นเมตตามหานิยม อุดมไปด้วยโชคลาภ มีดาวเกตุอยู่หน้าลัคนา พร้อมทั้งมีดวงจันทร์เป็นเกษตร โดยมีดาวพุธเป็นคู่มิตร ดาวอังคารยังเป็นคู่มิตรกับดาวศุกร์ อยู่ในราศีกรกฎซึ่งเป็นธาตุน้ำ และดาวพุธกับดาวศุกร์เป็นคู่อสีติธาตุน้ำ
ตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดลาภผลพูนทวี สามารถอธิษฐานขอพรจากองค์พระได้ดั่งความปรารถนา แต่ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองแห่ศีลธรรม ทั้งยังแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ในเมื่อองค์ประกอบพื้นฐานต่างๆเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสันนิษฐานได้ว่า พระปิดตาปางซ่อนหา รุ่นนี้มีพลานุภาพเน้นหนักทางด้านเมตตามหานิยม อุดมไปด้วยโชคลาภ และแคล้วคลาดนิรันตราย หากผู้ที่นำไปสักการบูชาได้มีการสวดมนต์ประกอบด้วย อานิสงส์ที่ได้รับก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ค่านิยม 

พระปิดตาปางซ่อนหาหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ เป็นพระปิดตาที่มีเอกลักษณ์และความงดงามตามแบบฉบับของตนเองโดยมิได้ลอกเลียนแบบใคร ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ทรงเนื้อหามวลสาร พิธีกรรมยอดเยี่ยม เรียบง่าย แต่พิถีพิถันและเข้มขลังยิ่งนัก จำนวนสร้างมีไม่มากจนเกินไป องค์ประกอบต่างที่กล่าวมานี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พระปิดตารุ่นนี้เป็นเพชรน้ำงามที่รอการเจียรนัย เมื่อเวลานั้นมาถึง... เพชรเม็ดนี้จะทอแสงเจิดจ้าเพียงใด ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมาย ครั้งแล้วครั้งเล่า และก็คงจะมีให้เห็นกันเรื่อยไป

พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ ทางนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์นำไปให้ผู้อ่านฯ ร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ผู้ที่ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคีฯ กองละ ๑๐๐ บาท (ในปี ๒๕๔๑) จะได้รับพระขุนแผนหลังยันต์นะเพชรกลับ เนื้อผงขมิ้นกับปูน ที่ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวพร้อมกับพระปิดตาปางซ่อนหาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๑ อย่างละองค์


พระพิมพ์ขุนแผนหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ด้านหน้า 

พระพิมพ์ขุนแผนหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ด้านหลัง

พระขุนแผนหลังยันต์นะกลับเพชร นี้ สร้างขึ้นจากผงที่เหลือจากการสร้างพระปิดตาปางซ่อนหา แต่ที่พิเศษกว่าคือ มีส่วนผสมของเสมาโบสถ์มหาอุดวัดบ้านกรับ(เก่า) ที่ชำรุดแตกหักไปก่อนที่จะมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถหลังเก่า โบราณเชื่อสืบต่อกันมาว่าใบเสมาโบสถ์มหาอุดมีอานุภาพในด้านการป้องกันเสนียดจัญไรดีนัก ใครได้ไว้นับเป็นโชควาสนายิ่งนัก


(บทความนี้ เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความที่ตีพิมพ์ในนิยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับที่ ๙๙ โดยใช้นามปากกาว่า ช.พิมลราช)

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

buddhasilapa: เหรียญแจกทาน (ระฆังเล็ก) หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ


เหรียญแจกทาน(ระฆังเล็ก) หลวงพ่อเพชร จนฺทวฺโส วัดบ้านกรับ

โดย.........ชายนำ ภาววิมล.........

         พระครูจันทสโรภาส (หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส) อดีตเจ้าอาวสวัดบ้านกรับ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์เมืองกาญจนบุรีที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือในวันสงกรานต์ คนห้วยกระดอนแสลกระเจาบที่ไปทำงานต่างถิ่นจะกลับมาเยี่ยมบ้าน และร่วมงานประจำปีที่วัดบ้านกรับเป็นจำนวนมาก จากวันที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ละสังขารไปเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ นับถึงวันนี้ก็เลย ๑๑ ปีแล้ว แต่สังขารของท่านยังสถิตย์คู่กับวัดบ้านกรับมาโดยตลอด ในงานประจำปีของวัดบ้านกรับ บรรดาศานุศิษย์ทั้งหลายทั้งปวงและคนห้วยกระเจาต่างเดินทางมากราบสรีระของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ซึ่งไม่เน่าไม่เปื่อยอย่างเนืองแน่น ปรากฏการณ์ที่เกิด ขึ้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นพระสุปฏิปันโนที่อยู่ในใจของคนห้วยกระเจามาโดยตลอด และคนรุ่นใหม่ในตำบลดอนแสลบที่สนใจเรื่องพระเครื่อง ต่างให้ความสนใจ ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นในนามของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อย่างต่อเนื่อง หลายคนที่เพิ่งรู้จักกันในเฟสบุ๊คได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์จากการนำพระหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ไปห้อยคอหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการนำวัตถุมงคลชุดที่ระลึกสร้างหอระฆังไปบูชาติดตัว

เหรียญแจกทาน (ระฆังเล็ก) หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ เนื้อนวโลหะ หน้า/หลัง


          คุณประณต เชี่ยงหลิว หนุ่มอายุวัยยี่สิบห้าปีที่บวชหน้าสรีระหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เล่าว่าน้องของเขานำรูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอูเนื้อเงินมาบูชาติดตัว วันแรกที่ห้อยคอก็มีเหตุมหัศจรรย์คือ จากที่เคยขายของได้วันละสองสามพันบาทเป็นขายได้วันละหลายพันบาท บางวันก็เก็บเงินหมื่นใส่กระเป๋าบ้าน นอกจากนั้น เพื่อนของประณต เชี่ยวหลิว คนหนึ่งขับรถประสบอุบัติเหตุบนทางด่วน แต่คนขับไม่เป็นอะไร ในคอมีเหรียญระฆังเล็กหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เพียงเหรียญเดียว เท็จจริงประการใดลองติดต่อสอบถามจากคุณประณต เชี่ยงหลิว อาจได้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนห้วยกระเจาจากการนำพระเครื่องและวัตถุมงคลของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ไปบูชาติดต่อ การติดตามหาตัวคุณประณต เชี่ยงหลิว คงไม่ยากนะครับ อากู๋คงบอกไม่พลาด 

รูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอู หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อนวโลหะ หน้า
รูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอู หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อนวโลหะ หลัง

           ในบรรดาเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส คุณประณต เชี่ยงหลิว เล่าให้ฟังว่าเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ที่คนห้วยกระเจามีประสบการณ์และนิยมห้อยกัน คือ เหรียญเสมารุ่นสองที่สร้างในปี ๒๕๓๗ และเหรียญระฆังเล็กซึ่งเป็นเหรียญแจกทานที่สร้างพร้อมกับวัตถุมงคลรุ่นที่ระลึกสร้างหอระฆังในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เหรียญระฆังเล็กนี้เป็นเหรียญที่ลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านดอนแสลบได้ไว้เป็นจำนวนมาก บางบ้านมีเป็นสิบๆ เหรียญเพราะหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส แจกกันเป็นกำมือ และมักให้ผู้หญิงหรือเด็กๆ ห้อยคอติดตัวเป็นประจำ ตั้งแต่มีข่าวเรื่องประสบการณ์จากการห้อยเหรียญระฆังเล็กหลายๆ ครั้ง คุณประณต เชี่ยงหลิว กระซิบบอกว่าไม่รู้เหรียญนี้หายไปไหนหมด

เหรียญอาร์มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ปี ๒๕๓๗ เนื้อเงิน หน้า
เหรียญอาร์มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ปี ๒๕๓๗ เนื้อเงิน หลัง

        เหรียญระฆังหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นเหรียญรูปเหมือนปั๊มขนาดเล็กกระทัดรัดที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ให้จัดสร้างขึ้นในปลายปี ๒๕๕๓ พร้อมกับพระสังกัจจายน์ รูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอู และเหรียญมหาเทพกวนอู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างหอระฆังและถาวรวัตถุภายในวัดบ้านกรับ วัตถุมงคลชุดนี้เป็นวัตถุมงคลชุดสำคัญซึ่งมีการวางกรอบแนวคิดที่ภาษาฝรั่งตาน้ำข้าวเรียกว่า“Conceptual Design”และมีการออกแบบพิถีพิถันมาก เป็นงานยากสุดหินชิ้นหนึ่งที่ช่างตุ้ม(โสภณ ศรีรุ่งเรือง) ทุ่มเทจิตวิญญาณให้งานนี้แบบเต็มร้อยโดยเฉพาะรูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอู แนวคิดหลักของการจัดสร้างวัตถุมงคลชุดนี้คือ “ระฆัง” ระฆังถ่ายทอดออกมาเป็นพระสังกัจจายน์มหาเศรษฐีเนื้อระฆังเก่าที่มีศิลปะงดงามมาก ถ่ายทอดรูประฆังจีนซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของสัญญาณที่ปลุกให้ตื่นจากความมืดในราตรีกาล ตื่นขึ้นมาสัมผัสกับความสดชื่นแจ่มใสในยามรุ่งอรุณ รวมทั้งสัญลักษณ์อื่นๆที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสุขสมปรารถนาในทุกเรื่อง และนำรูประฆังไทยมาใช้เป็นรูปแบบเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ขนาดเล็กเพื่อให้หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส สร้างทานบารมีต่อไป

เหรียญมหาเทพกวนอู เนื้อเงิน หน้า - หลัง

พระสังกัจจายน์มหาเศรษฐี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อระฆังเก่า พิมพ์เล็ก หน้า

พระสังกัจจายน์มหาเศรษฐี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อระฆังเก่า พิมพ์เล็ก หลัง

พระสังกัจจายน์มหาเศรษฐี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อระฆังเก่า พิมพ์ใหญ่ หน้า

พระสังกัจจายน์มหาเศรษฐี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อระฆังเก่า พิมพ์ใหญ่ หลัง

            วัตถุประสงค์ สร้างขึ้นเพื่อให้หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เพิ่มพูนทานบารมีโดยการแจกวัตถุมงคลเป็นทานดั่งเช่นพระเกจิอาจารย์หลายๆ รูปได้กระทำในอดีต

ภาพหอระฆังระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

            ลักษณะ เป็นเหรียญหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ในลักษณะเหรียญรูปเหมือนแบบครึ่งองค์ศิลปะนูนสูง ตัวเหรียญเป็นรูประฆังไทย ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะเพชรกลับ ใต้ยันต์จารึกอักษรสามแถว “หลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี”

            ขนาด ฐานกว้าง ๑.๓๕ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร


            เนื้อหา  มี ๕ เนื้อ คือ 

                   ๑) ทองคำ จำนวนสร้าง ๑๒ เหรียญ

                   ๒) เงินลงยาสีฟ้า ประมาณไม่กี่สิบเหรียญ (จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้)
เหรียญระฆังเงินลงยา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อเงินลงยา หน้า

เหรียญระฆังเงินลงยา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อเงินลงยา หลัง

                   ๓) เงิน จำนวนสร้าง ๒๐๕ เหรียญ

                   ๔) นวโลหะ จำนวนสร้าง ๓๑๐ เหรียญ

เหรียญแจกทาน (ระฆังเล็ก) หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ เนื้อนวโลหะ หน้า

เหรียญแจกทาน (ระฆังเล็ก) หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ เนื้อนวโลหะ หลัง

                   ๕) ทองแดง จำนวนสร้าง ๕๐๒๕ เหรียญ

เหรียญระฆัง หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อทองแดง หน้า

เหรียญระฆัง หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เนื้อทองแดง หลัง


วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559

buddhasilapa: พระปิดตาญาณเรศและพระปรกใบมะขาม หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม


 พระปิดตาญาณเรศและพระปรกใบมะขาม หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม

โดย...ชายนำ ภาววิมล...


    พระครูวิโรจน์ศาสนกิจ (ช่วง ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดควนปันตาราม ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกรซึ่งมีอายุพรรษามากที่ สุดรูปหนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน  หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เป็นศิษย์เอกผู้สืบสายพุทธาคมของพระครูรัตนาภิรัต (หลวงพ่อแก้ว:เน) วัดควนปันตาราม หลวงพ่อแก้ว(เน) รูปนี้เป็นศิษย์พระอาจารย์ทองเฒ่า ปรมาจารย์ใหญ่แห่งสำนักเขาอ้อ ว่ากันว่าพระเวทย์วิทยาคมและคัมภีร์ต่างๆของสำนักเขาอ้อตกทอดมาถึงหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม มีความเชี่ยวชาญในพระเวทย์วิทยาคมสำนักเขาอ้อเพียงใด 

     ด้านพระเครื่องและวัตถุมงคล หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เริ่มจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในนามของท่านเองตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ แม้ว่า “พระกริ่งรัตนา” ซึ่งเป็นพระกริ่งรุ่นแรกของท่าน มีลักษณะเป็นพระกริ่งขนาดเล็กและไม่มีความงดงามตามแบบอย่างสมัยนิยม เนื่องจากเป็นพระที่หล่อกันเองภายในวัดควนปันตารามโดยช่างฝีมือบ้านๆ จะหาสวยๆ สักองค์ก็ยากเต็มที แต่ถ้าจะพูดกันถึงพุทธคุณกันละ...เก้อ ลูกศิษย์สายตรงส่วนใหญ่รู้ดีว่าพระกริ่งรัตนาชุดนี้ มิได้ด้อยไปกว่าพระสวยๆ ศิลปะดีๆ ที่สร้างขึ้นในภายหลังแม้แต่น้อย ที่สำคัญคือหลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม นำคำว่า “รัตนา”ซึ่งเป็นคำหนึ่งในสมณะศักดิ์ของหลวงพ่อแก้ว(เน) มาตั้งเป็นชื่อพระกริ่งรุ่นแรกของท่าน การที่พระเกจิอาจารย์อาวุโสอย่างหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม นำชื่อของครูบาอาจารย์มาตั้งเป็นชื่อพระเครื่อง/วัตถุมงคลชุดใดชุดหนึ่ง ย่อมเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ให้ความสำคัญกับพระกริ่งชุดนี้เพียงใด เวลายี่สิบปีผ่านไป“พระกริ่งรัตนา”เป็นพระกริ่งของพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่หายากมากพิมพ์หนึ่ง



พระกริ่งรัตนา หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม รุ่นแรก

    ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม อนุญาตให้คณะศิษย์ฯ สร้างพระรูปเหมือนของท่านหลายรุ่น อาทิ พระรูปหล่อลอยองค์รุ่นแรก อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส ปี ๒๕๔๐, เหรียญรุ่นแรก ฉลองอายุ ๗๒ ปี สร้างเมื่อปี ๒๕๔๒, พระปิดตารุ่นแรก ปี ๒๕๔๕, พระเครื่อง/วัตถุมงคลต่างๆของท่านหลายพิมพ์เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหาของศิษย์สายนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีหลายพิมพ์ที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารออกมาให้เห็นมากนัก เลยถึงคราวถึงวาระที่ต้องหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังบ้าง



พระรูปหล่อหลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม พัทลุง รุ่นแรก


เหรียญหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม พัทลุง รุ่นแรก


พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม พัทลุง

พระปิดตาญาณนเรศร์ ปี ๒๕๔๙

    พระปิดตาญาณนเรศร์เป็นพระปิดตาเนื้อผงดำที่สร้างขึ้นในปี ๒๕๔๙ โดยการนำยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ บางคนเรียกยันต์นี้ว่า “ยันต์นเรศวรชนช้าง” มาเป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาญาณนเรศร์ ยันต์นี้เป็นหนึ่งในตำราพิชัยสงครามที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บันทึกใน “คัมภีร์พระเวท ฉบับจัตตถบรรพ” หน้า ๑๘๐ ว่า ...ท่านตีค่าไว้ถึงร้อยเอ็ดพระนคร... และกล่าวถึงอุปเท่ห์ในการใช้ยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ว่า..ถ้าจะเข้าเฝ้าท้าวพระยา ให้รูดตะกรุดดอกนี้มาไว้ข้างหน้าที่ตรงสะดือ และถ้าจะให้ท่านเมตตาเราให้รูดตะกรุดมาไว้ข้างขวาแลท่านเมตตาเรา ถ้าจะให้หญิงรัก ให้เอาใบรักมาลงชื่อ ปี วัน เดือน แล้วเอาใบรักนั้นสีสายตะกรุดเสียก่อน จึงให้รูดตะกรุดนั้นมาไว้ข้างซ้าย เห็นหน้าเรารักเรานักแล ถ้าจะให้คนทั้งหลายรักให้เอาหญ้าเกล็ดหอย มาสีสายตะกรุด แล้วรูดมาไว้ข้างขวารักเรานักแล ถ้าโจรผู้ร้ายรุกรานปล้นหนทาง หรือจะกันสัตรูทั้งในน้ำและบนบกก็ดี ให้เอายอดสันพร้ามอญและใบขัดมอญ มาสีสายตะกรุดเสียก่อน แล้วรูดมาไว้ข้างขวา สัตรูทำอันตรายแก่เรามิได้ ถ้าจะกันโจรผู้ร้ายให้รูดมาข้างหลัง มันกลัวเรานัก ถึงจะมาลักของก็เอาไปมิได้ ถ้าจะไปสู้ความ ให้เอาตะกรุดรูดไปไว้ข้างหน้า ไปว่าความมีชัยชนะแล ถ้าจะให้เป็นคงกระพันชาตรี ให้เอาใบแสนกำลังหนุมาณกับยอดขัดมอญมาสีสายตะกรุดเสียก่อนแล้วรูดตะกรุดมาไว้ข้างหน้า ท่านว่าเป็นล่องหนกำบังจับเรามิถูกเราเลย ถ้าจะนอนป่ากลัวสัตว์ร้ายต่างๆ จะทำอันตราย หรือจะนอนที่ใดๆ ก็ดี ให้รูดตะกรุดมาไว้ข้างหลัง สารพัดคุ้มกันภัยได้ทุกสิ่งแล ถ้าบังเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น ให้เอาตะกรุดแช่น้ำกินบ้างอาบบ้าง หายสิ้นแล...." นอกจากอุปเทห์ที่อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บันทึกไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้ว สีหวัชร ศิษย์เอกของอดีตพระครูหนู (นิรันดร์ แดงวิจิตร) วัดสุทัศน์เทพวราราม ผู้สืบสายพุทธาคมสมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทโว อธิบายขยายความเกี่ยวกับความเป็นมาและความพิสดารของยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ในคอลัมน์อักขระเลขยันต์ นิตยสารพระเกจิ 


พระปิดตาญาณนเรศร์ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมโม วัดควนปันตาราม พัทลุง



    การนำยันต์ตะกรุดญาณนเรศร์มาเป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาสายเขาอ้อ มีการปรับเปลี่ยนแต่งเติมให้พระปิดตารุ่นนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง คงไว้ซึ่งความเป็นพระปิดตาสายเขาอ้อ โดยปรับเปลี่ยนรูปพระปิดตาจากเดิมที่เป็นพระปิดตามหาลาภมาเป็นพระปิดตามหาอุตม์พิมพ์ว่าวจุฬา ซึ่งเป็นพระปิดตาพิมพ์นิยมของสำนักเขาอ้อ ในส่วนตัวยันต์ มีการเพิ่มพระคาถาในกระดูกยันต์อีก ๒ บท คือ ธาตุสี่ “นะ มะ พะ ทะ” ที่มุมกระดูกยันต์ทั้งสี่ด้าน และพระคาถาอริยสัจสี่ “ทุสะนิมะ สะนิมะทุ นิมะทุสะ มะทุสะนิ” ในกระดูกยันต์ทั้งสี่ด้าน พระคาถานี้ ศิษย์ฆราวาสที่ปรนนิบัติรับใช้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน เคยบอกกับผู้เขียนว่า พระคาถานี้ มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “หัวใจมนุษย์” เป็นพระคาถาที่พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อหลายรูปนิยมใช้กัน นอกจากนั้น ยังเพิ่มอักขระในพระคาถาสองชุดที่ทำให้แบบด้านหน้าพระปิดตาญาณนเรศร์นี้ มีความสวยงามลงตัวมากยิ่งขึ้น คือ ด้านบนและด้านซ้ายด้านขวา ประทับด้วยอักขระ ๓ ตัว “อุ มะ อะ” และใต้ยันต์ ประทับด้วยหัวใจพระคาถา ๓ ตัว “อิสวาสุ” ส่วนด้านยันต์คงไว้ซึ่งลักษณะของยันต์ตะกรุดพระนเรศร์ และจารึกชื่อ “หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม จ.พัทลุง” รอบยันต์หลัง

    พระปิดตาญาณนเรศร์ หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นจากว่านยาและมวลสารต่างๆ มายมาย ด้านหน้าฝังเกศาหลวงพ่อช่วง ฐิติธมฺโม มีจำนวนการสร้างประมาณ ๕,๒๐๐ องค์ เท่าที่ทราบพระปิดตาชุดนี้ หมดไปจากวัดควนปันตารามนานแล้ว คนที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่เดินทางมากราบนมัสการท่าน นักนิยมพระเครื่องสายนี้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระปิดตาชุดนี้น้อยมาก บางคนมองข้ามความสำคัญของพระปิดตาเนื้อผงเพราะฝังใจว่าชำรุดแตกหักง่ายเก็บรักษายากโดยหารู้ไม่ว่านี่คือสุดยอดพระปิดตาของหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม อีกพิมพ์หนึ่ง เป็นพระปิดตาที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นอย่างดี และเป็นพระปิดตาที่ลูกศิษย์ในสายนี้น่านำไปจับขอบทองบางๆ ขึ้นคอมากที่สุด ถ้ายกซุ้มด้วยละเก้อ ยิ่งงามจับใจ ...สวย เท่ห์ ขลัง...

พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๗

    พระปรกใบมะขาม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๗ เป็นพระประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่หลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม มอบหมายให้คณะศิษย์ดำเนินการจัดสร้างเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างมณฑป ลักษณะเป็นพระปรกใบมะขามขนาดค่อนข้างเขื่องกว่าพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหลังประทับด้วยยันต์ “พะซ้อน” และอักษรระบุนาม “ช่วง ฐิตธมฺโม พัทลุง” มีทั้งหมด ๗ เนื้อ คือ ทองคำ ๑๓ องค์ เงิน ๑๕๒ องค์ ชนวนสำริด ๑๒ องค์ นวโลหะ ๑๙๘ องค์ ชินตะกั่ว ๑๒ องค์ ทองเหลือง ๙๑๒ องค์ ทองแดง ๗๙๖๐ องค์


พระปรกใบมะขามหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม รุ่นแรก

    การสร้างพระปรกใบมะขามครั้งนี้ จัดเป็นชุด ๓ ชุด คือ

       ๑. ชุดกรรมการใหญ่ ๑๒ ชุด (ทองคำ เงิน สำริด นวโลหะ ชินตะกั่ว อย่างละ ๑ องค์ ทองเหลือง ๑๐ องค์ ทองแดง ๑๕๐ องค์)
       ๒. ชุดกรรมการเล็ก ๑๔๐ ชุด (เงิน นวโลหะ อย่างละ ๑ องค์ ทองเหลือง ๕ องค์ ทองแดง ๓๐ องค์
       ๓. ชุดของขวัญ ๔๖ ชุด (นวโลหะ ๑ องค์ ทองเหลือง ๒ องค์ ทองแดง ๑๐ องค์)

    สำหรับโค้ดของพระปรกใบมะขามชุดนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นข้อมูลพพื้นฐานสำหรับการเล่นหาในวันข้างหน้า คือ ใช้ “” เป็นหลักในการตอกโค้ดทุกเนื้อ และเพิ่มโค้ดอีกหนึ่งตัวโดยการนำอักษรย่อของโลหะมาตอกเพื่อจำแนกแยกแยะลักษณะของโลหะที่จัดเข้าไปอยู่ในพระปรกใบมะขามแต่ละชุด (“ท” ทองคำ, “ง” เงิน, “ส” สำริด, “น” นวโลหะ, “ช” ชินตะกั่ว, “ล” ทองเหลือง, “ด” ทองแดง) ยกเว้นพระปรกใบมะขามเนื้อทองแดง จำนวน ๑๕๐๐ องค์ ที่ถวายหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ตอกโค้ด “ช” เพียงตัวเดียว นอกจากนั้น มีการตอกหมายเลขกำกับพระปรกใบมะขาม ๔ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน นวโลหะ ชนวนสำริด

       พระปิดตาญาณนเรศร์ พระปรกใบมะขามรุ่นแรกหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม เป็นพระเครื่องที่ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน จะรับรู้กันก็เฉพาะในกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิด ทำให้นักนิยมพระเครื่องสายนี้ไม่มีข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการเล่นหาสะสมพระหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม อย่างครบถ้วน จึงบันทึกและนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเล่นหาและสะสมพระหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม ในวันข้างหน้า