วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

buddhasilapa:เหรียญหล่อพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร สำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย


เหรียญหล่อพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร สำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย

โดย...ชายนำ ภาววิมล...
     เหรียญหล่อเป็นพุทธศิลป์อีกประเภทหนึ่งซึ่งเคยได้รับความนิยมและเล่นหากันอย่างกว้างขวางเมื่อวันวาน นักนิยมพระเครื่องรุ่นเก่าจักให้ความสำคัญกับเหรียญหล่อมากกว่าเหรียญปั๊ม เหตุผลสำคัญคงไม่พ้นเรื่องศิลปะบนตัวเหรียญซึ่งแต่ละเหรียญมีลักษณะแตกต่างกัน ไม่มีเหรียญใดที่เหมือนกันทุกประการ และวรรณะสีผิวของโลหะที่ทำปฏิกิริยากับอากาศ เป็นเสน่ห์ที่ดลใจให้นักนิยมพระเครื่องอาวุโสหลายคนหลงไหลในเสน่ห์ของเหรียญหล่อยุคเก่า เมื่อเทคโนโลยีทางด้านการสร้างเหรียญหล่อมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ศิลปินช่าง"เกษม มงคลเจริญ" สร้างสรรค์และผลิตผลงานเกี่ยวกับเหรียญหล่อเป็นจำนวนมาก เหรียญหล่อที่ทรงคุณค่าและเป็นอมตะที่นักนิยมพระเครื่องยุคปี ๒๕๑๐ กว่าๆ ยอมรับและนิยมเล่นหากันอย่างกว้างขวางคือเหรียญหล่อพิมพ์นาคปรก/พระรูปเหมือนใบโพธิ์ ท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส พระอรหันต์กลางกรุงที่พุทธศาสนิกกราบไหว้ได้โดยสนิทใจ

        เหรียญหล่อพิมพ์นาคปรก/พระรูปเหมือนใบโพธิ์ท่านเจ้าคุณนรฯ เป็นพุทธประณีตศิลป์ที่รังสรรค์ขึ้นโดยอาศัยเค้าโครงของใบโพธิ์เป็นกรอบพิมพ์ในการออกแบบเหรียญหล่อที่มีความงดงาม และลงตัวเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะหาเหรียญใดมาเทียบเคียง แม้นศิลปินช่างอย่าง "เกษม มงคลเจริญ" จักสร้างสรรค์งานพุทธประณีตศิลป์ในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีเหรียญใดจักโดดเด่นเท่ากับเหรียญหล่อพิมพ์นาคปรก/พระรูปเหมือนใบโพธิ์ ท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส หลังยุคสมัยของศิลปินช่าง "เกษม มงคลเจริญ" เป็นต้นมา ไม่มีสำนักใดที่สามารถสร้างสรรค์/นำเสนองานพุทธประณีตศิลป์ในรูปแบบของเหรียญหล่อใบโพธิ์ ให้เป็นที่ยอมรับ และนิยมเล่นหากันอย่างกว้างขวางเหมือนดั่งสมัยเฟื่องฟูของศิลปินช่าง "เกษม มงคลเจริญ"

        ปี ๒๕๕๙ ศิลปินช่าง "โสภณ ศรีรุ่งเรือง" ช่างแกะแม่พิมพ์เหรียญที่มีชื่อเสียงในช่วงท้ายของงานพุทธประณีตศิลป์ในตระกูลพุทธศิลป์ "เกษม มงคลเจริญ" และเป็นศิลปินช่างร่วมสมัย ที่ให้ความเคารพนับถือศิลปินช่าง"เกษม มงคลเจริญ"เป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับการทาบทามจากคณะศิษย์ของพระอาจารย์ รุ่ง ปิยธโร ให้เป็นผู้แกะแม่พิมพ์/ดำเนินงานหล่อเหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ ด้วยความคุ้นเคยและทำงานร่วมกันมานานกว่ายี่สิบปี จึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่า "จักสร้างสรรค์งานพุทธประณีตในรูปแบบเหรียญหล่อใบโพธิ์ขึ้นมาอีกครั้ง" และนำเค้าโครงเหรียญหยดน้ำพิมพ์ขี่เสือหลวงพ่อเปิ่น ฐิตธมฺโม วัดบางพระ ที่จัดสร้างโดยคณะศิษย์สายการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้นร่างในการกำหนดแบบเหรียญที่สามารถเข้าถึงลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกถึงความเป็นเหรียญหล่อใบโพธิ์ระดับพุทธประณีตศิลป์ 


พระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร สำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์

        พระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวสู่วงการพระเครื่องในปี ๒๕๕๗ ท่านเป็นพระที่พระครูวินัยวัชรกิจ(อุ้น สุขกาโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี มอบหมายให้มาปกครองดูแล/พัฒนาสำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ดินที่ชาวบ้านย่านนี้ ร่วมกันถวายเพื่อให้หลวงพ่ออุ้น สุขกาโมดำเนินการจัดสร้างศาสนสถานให้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านในป่าเขาจ้าว 

         พระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร มีนามเดิมว่า "รุ่ง อินทรพรหม" ถือกำหนดเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรคนที่ ๖ ของนายเยื้อง นางสำรวย อินทพรหม อาชีพทำไร่ทำนา เมื่ออายุครบบวช อุปสมบทที่พระอุโบสถวัดตาลกงโดยมีพระครูโพธิวัชรคุณ (แก้ว ฐิตรติ) วัดลุ่มโพธิ์ทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินัยวัชรกิจ(อุ้น สุขกาโม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประวัติศีลาจารย์(พาน สุขกาโม) วัดโป่งกระสัง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ไปจำพรรษาและช่วยงานสร้างพระอุโบสถที่วัดเขาพรหมชะแง้ ๒ ปี กลับมาอยู่ที่วัดตาลกง ระยะหนึ่ง จากนั้น หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เห็นหน่วยก้านและความสามารถของพระหนุ่มรูปนี้ จึงส่งให้มาปกครองดูแล พัฒนาสำนักสงฆ์ฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ กว่า เป็นต้นมา ระยะแรก เป็นลักษณะการไปมาระหว่างวัดตาลกงกับสำนักสงฆ์ท่าไม้ลายและมาจำพรรษาเป็นการประจำ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐




เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ รุ่นแรก 

      เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ เป็นเหรียญหล่อรุ่นแรกที่ดำเนินการจัดสร้างในปลายปี ๒๕๕๘ อธิษฐานจิตปลุกเสกและนำออกให้เช่าบูชาในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙ โดยมีจุดมุ่งหมายในการหาปัจจัยสมทบทุนสร้างศาลาเอนกประสงค์สำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย พระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในวาระนี้ มีชื่อรุ่นว่า "พยัคฆ์เขาจ้าว" ประกอบด้วย เหรียญหล่อพิมพ์ขี่เสือ เหรียญปั๊มหลังแบบอุดผงฝังหนังเสือ ล็อกเก็ตรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร เสือหล่อ และผ้ายันต์รุ่นแรก เหตุที่จัดเหรียญหล่อพิมพ์ขี่เสือและเสือหล่อ เพราะพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร เกิดปีเสือ/จำพรรษาในป่าเขาจ้าวเป็นเวลานาน กว่า ๓๐ ปี เสือจึงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงปีเกิดและการครองสมณเพศด้วยจิตที่มุ่งมั่นและเข้มแข็งดั่งเสือในป่าใหญ่ 

        ลักษณะ เป็นเหรียญหล่อรูปเหมือนในกรอบพิมพ์คล้ายใบโพธิ์หรือหยดน้ำ ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร นั่งบริเวณด้านหลังของเสือโคร่ง ดูผิวเผินเหมือนนั่งบนหลังเสือ ด้านหลังประทับด้วยยันต์ครูคือยันต์หลวงปู่ศุข วัดโตนดหลวง ด้านใต้ของตัวยันต์จารึกอักษรนามหลวงพ่อรุ่ง ปิยธโร สำนักสงฆ์ท่าไม้ลาย 

        เนื้อหาและจำนวนการสร้าง มี ๔ เนื้อ ประกอบด้วย

        ๑. เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ เนื้อทองคำ จำนวนสร้าง ๒ องค์





        ๒. เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ เนื้อเงิน จำนวนสร้าง ๙๙ องค์





        ๓. เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ เนื้อนวโลหะ จำนวนสร้าง ๙๙ องค์




        ๔. เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือ เนื้อโลหะผสม(สัมฤทธิ์) ๗๐๐ องค์





       พิธีกรรม พระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๙ 


      พลานุภาพ พิจารณาจากโครงสร้างและศิลปะบนตัวเหรียญ ประกอบกับฤกษ์ยามในการอธิษฐานจิตปลุกเสก เหรียญหล่อรุ่นนี้ น่าจะมีอุปเท่ห์ทางด้านคุ้มครองป้องกัน แคล้วคลาดนิรันตราย และมหาอำนาจ

      เหรียญหล่อพระอาจารย์รุ่ง ปิยธโร พิมพ์ขี่เสือรุ่นแรก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสะสมเหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ยุคใหม่ ตอนนี้เป็นเหรียญใหม่ที่สนนราคาเช่าหายังไม่สูงมากนัก ทอดเวลาไปสักระยะหนึ่ง ด้วยพื้นฐานทางศิลปะของเหรียญที่จัดอยู่ในระดับพุทธประณีตศิลป์ ความเป็นไปได้ที่จะยกระดับขึ้นไปเป็นเหรียญที่นิยมเล่นหาในวงกว้าง คงไม่นานเกินรอ 
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น